วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552
การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยฝีมือคณะราษฎร นำโดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พ.อ. พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) และหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475
ในมิติของเวลาปัจจุบันความหมายของประชาธิปไตยตามจินตภาพของโลกตะวันตก มีหลักการสำคัญ 2 ประการคือ หลักอธิปไตยและหลักเสรีภาพ
หลักอธิปไตย คือ หลักการที่อำนาจสูงสุดในทางการเมืองจะต้องเป็นของประชาชน ดำเนินไปโดยประชาชน และเพื่อประชาชนหลักเสรีภาพ คือ การที่รัฐจะต้องปกครองโดยรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะต้องดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิในด้านความคิด ความเชื่อ และยอมให้ประชาชนทุกกลุ่มมีสิทธิเสนอแนวความคิดของตน แม้จะมีความแตกต่างกับฝ่ายรัฐบาลก็ตามที
ประชาธิปไตย เป็นคำหนึ่งซึ่งมีความหมายคงที่ตายตัว และในสังคมไทยมักมีคำตอบค่อนข้างสำเร็จรูป อาทิ ประชาธิปไตยคือการมีรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยคือการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาธิปไตยคือระบบที่มีพรรคการเมือง และประชาชนมีหน้าที่ต้องไปเลือกตั้ง ประชาธิปไตยคือการไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียงต่างๆ เหล่านี้
แต่ถ้าหากคนไทยไม่โกหกตัวเอง ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันอย่างมโหฬาร บางแห่งอาศัยระบอบอุปถัมภ์ระบบเส้นสายแบบญาติมิตรพี่น้อง จึงไม่แปลกที่จะมีผู้มองนักการเมืองเป็นพวกที่น่ารังเกียจ เป็นอาชีพที่เข้าไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่นหรือการเลือกตั้งใหญ่ก็ตามที
และต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งในแต่ละครั้งมีการใช้ทุนมหาศาล ถึงแม้ผู้สมัครจะเน้นนโยบายพรรคการเมืองที่ตนสังกัดนำออกมาโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจ แต่ก็ไม่ใคร่ได้ผลเท่าใดนัก เนื่องจากการจะเชิญชวนพี่น้องประชาชนซึ่งต่างก็มีภาระหน้าที่ต้องทำงานหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องโดยเฉพาะชาวบ้านในชนชทผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย เรื่องจะให้ไปนั่งฟังการปราศรัยนั้นยากเย็นแสนเข็ญ เหตุเพราะกว่าจะเสร็จงานกลับถึงบ้านก็ค่ำมืด จึงอยากพักผ่อนอยู่กับบ้านแทนที่จะไปทนนั่งหลังขดหลังแข็งอดหลับอดนอนไปฟังการปราศรัย
บรรดาหัวคะแนนและผู้ลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง จึงต้องสรรหายุทธิวีธีต่างๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากประชาชน ทั้งมีการจัดหารถขนคน จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาเพื่อเชิญชวนพี่น้อประชาชนออกไปร่วมฟังปราศรัย จึงทำให้การเลือกตั้งในแต่ละครั้งมีต้นทุนในการใช้จ่ายมหาศาล ผลสุดท้ายจึงใช้วิธีซื้อสิทธิ์-ขายเสียง เพราะนอกจากจะรวดเร็วและไม่ต้องลงแรงให้เหนื่อยยากแล้ว ยังแน่ใจได้อีกว่า จะได้รักการเลือกตั้งอย่างแน่นนอน
และนั่นคือการเลือกตั้งในอดีตที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยตื่นตัวทางการเมือง ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” เข้าไม่ถึงนโยบายพรรคการเมืองที่ผู้สมัครและบรรดาหัวคะแนนพรรคพยายามโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อต่างๆ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง
ผิดกับปัจจุบันประชาชนเริ่มหันมาให้ความสนใจและมีความรู้ความเข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น หลังจากมีการรณรงค์ผ่านสื่อหลายแขนง ทั้งสื่อภาครัฐ และสื่อเสรีมากมายทั้งวิทยุชุมชมสื่อสิ่งพิมพ์และอินเทอร์เน็ต
ทำให้ประชาชนเริ่มเข้าใจว่าหากยอมให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เมื่อผู้สมัครท่านนั้นหรือพรรคนั้นมีโอกาสเข้าไปบริหารบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นการเลือกในตั้งระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ นอกจากจะทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนาแล้วยังอาจมีการถอนทุนคืนในภายหลังอีกด้วย
ปัจจุบันการเลือกตั้งจึงเน้นที่นโยบายพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดและตัวบุคคลว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมน่าเชื่อในสายตาประชาชนมากน้อยเพียงใด จึงทำให้บรรดาพรรคการเมืองต้องสรรหานโนบายที่คิดว่าดีมาเสนอพี่น้องประชาชน และเมื่อได้รับการเลือกตั้งเข้าไปแล้วก็ต้องทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ฝีไม้ลายมือให้ได้เห็นผลงานตามนโยบายที่ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์เอาไว้ ไม่เช่นนั้นเลือกตั้งครั้งหน้ามีหวังหมดสิทธิ์
ยกตัวอย่างในภาคอีสานจากผลการเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุดที่จังหวัดศรีสะเกษและสกลนครที่พรรคเพื่อไทยชนะพรรคภูมิใจไทยอย่างถล่มทลาย นั่นต้องยอมรับว่าประชาชนในภาคอีสานยังศรัทธาผลงานของพรรคไทยรักไทยเดิมอย่างเหนียวแน่น ถึงแม้นักการเมืองบางท่านจะแยกตัวไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทยบ้างแล้วก็ตามที
และการเลือกตั้งซ่อมอีกครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2553 ที่จังหวัดมหาสารคามและปราจีนบุรีจะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าพี่น้องประชาชนจะยังศรัทธานโยบายพรรคหรือว่าตัวบุคคลอีกหรือไม่
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ผู้เรียกร้องหาประชาธิปไตยควรจะหยุดค่านิยมเก่าๆ นั่นคือการซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่หากมีผู้สมัครคนใด พรรคใด นำข้าวของเงินทองไปแจกจ่าย พี่น้องประชาชนควรหาวิธีการสั่งสอนบรรดานักการเมืองล้าหลังด้วยการจ่ายเงินก็รับมา แต่เมื่อถึงเวลาเข้าคูหาเลือกตั้ง ท่านจงพิสูจน์ให้คนพวกนั้นรู้ว่า กูจะไม่เลือกมึงเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ของชาติอีกต่อไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น