วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

บทความกำเนิดโลก มนุษย์ และความเท่าเทียม

เปิดประตูสู่ความจริง
นำเสนอทัศนะทางพุทธปรัชญาที่ชี้นำสู่ความจริง
โดย ปรัศนีย์ สัจวิพากษ์
----------------------------------------------------------
กำเนิดโลก มนุษย์ และความเท่าเทียม บรรดาคำถามทั้งหลายที่เราๆท่านๆให้ความสนใจแสวงหาคำตอบนั้น กำเนิดของโลก ของมนุษย์ และความเสมอภาคเท่าเทียม เป็นประเด็นคำถามที่อยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมาก เช่นเดียวกับเป้าหมายของชีวิต การเวียนว่ายตายเกิด เป็นต้น ซึ่งพบได้จากกระทู้คำถามที่มีผู้โพสต์ไว้ตามเว็บไซต์ต่างๆในโลกไซเบอร์
ความจริงคำถามเช่นนี้ แม้แต่เด็กที่พอเริ่มพูดจารู้เรื่องยังให้ความสนใจ พวกเขามักจะถามคุณพ่อคุณแม่ว่าหนูมาจากไหน มาได้อย่างไร คุณพ่อคุณแม่ก็คงจะตอบอย่างเอ็นดูว่าออกมาจากท้องแม่ ออกมาทางไหนล่ะ ไม่เห็นมีที่ทางจะออกได้เลย คุณแม่คงจะตอบอย่างเหนียมอายว่าออกมาจากก้น แล้วก่อนหน้านั้นหนูอยู่ที่ไหน มาอยู่ในท้องคุณแม่ได้อย่างไร ฯลฯ อีกหลายคำถามที่จะตามมา หนักเข้าคุณพ่อก็คงส่ายหน้าลุกขึ้นเดินหนี ปล่อยให้คุณแม่วิสัชชนาไปตามสะดวก

มันเป็นคำถามที่ตอบยาก แม้จะพอเข้าใจอยู่บ้าง ตามคำอธิบายในหลักวิชาวิทยาศาสตร์บทที่ว่าด้วยวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต แต่ถึงพูดไปเด็กไร้เดียงสาก็คงไม่เข้าใจอยู่ดี และก็จะต้องตั้งปุจฉาขึ้นมาอีกอย่างไม่สิ้นสุด ในที่สุดความรู้สึกเอ็นดูเมื่อครู่อาจแปรเปลี่ยนเป็นความรำคาญ คุณแม่ก็จะต้องหาทางเบี่ยงเบนประเด็นให้ลูกน้อยหันไปสนใจเรื่องอื่น หรือไม่ก็ตัดบทด้วยการแสดงท่าทีรำคาญลุกพรวดขึ้นเดินหนีเสียเลย บางท่านอาจมองเป็นเรื่องไร้สาระถึงกับออกปากไล่ส่งให้ไปพ้นๆหน้า ลูกน้อยก็อาจจะยิ่งงงงันหนักขึ้นไปอีก

จะว่าไปความช่างซักช่างถามของเด็กๆนั้นเป็นเรื่องดี เป็นการแสดงออกถึงแววของความเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาแต่ยังเยาว์วัย ที่สมควรส่งเสริมอย่างจริงจัง และที่สำคัญก็คือปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ออกจะเป็นเรื่องที่มีสาระแก่นสารมากเลยทีเดียว เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพ การกำเนิดของสังคม ผู้นำสังคมและผู้ปกครองรัฐ ในบทความนี้ขอกล่าวเฉพาะความเสมอภาคเท่าเทียม โดยเริ่มจากคำถามที่ว่า
1. กำเนิดของโลก กำเนิดของมนุษยชาติ ตลอดจนสังคมมนุษย์ เป็นมาอย่างไร
2. แหล่งอ้างอิงถึงจุดเริ่มต้นแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมของมวลมนุษย์อยู่ตรงไหน

เมื่อเราสามารถแสวงหาคำตอบได้ ความไม่เข้าใจที่มาที่ไปของตนเองหรือสิ่งที่สงสัยก็จะถูกทำลายไป ทุกคนจะกำหนดแผนการดำเนินชีวิตตนเองได้ การดำเนินชีวิตจะก้าวไปอย่างมีทั้งทิศทางและเป้าหมายที่สัมพันธ์กัน ในที่สุดทุกท่านก็จะเดินทางบรรลุสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้โดยสวัสดิภาพ รวมทั้งความเสมอภาคเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพ และระบอบประชาธิปไตย ที่จะเกิดขึ้นจากการปรับทัศนะมุมมองที่เอื้ออำนวยเสียก่อน
แนวความคิดที่ใช้ค้นหาคำตอบ

เวลาจะค้นหาคำตอบหรือให้คำอธิบายต่อปัญหาใดๆนั้น จำเป็นต้องดำเนินการไปตามแนวความคิดหรือทฤษฎี เท่าที่เห็นว่าสามารถใช้เป็นฐานรองรับสนับสนุนคำอธิบายได้ เราคงไม่อาจอธิบายข้อสงสัยใดๆแบบคิดเอาเองตามใจปรารถนา ในกรณีนี้มีแนวความคิดที่จะใช้ค้นหาคำตอบ คือ

1. แนวความคิดอนมตัคคะ คือแนวความคิดที่อธิบายว่ากำเนิดของมนุษย์และโลกตลอดจนระบบสุริยจักรวาล มีจุดกำเนิดที่ไม่อาจกำหนดนับได้เป็นวันเวลาอย่างเฉพาะเจาะจงว่าเกิดขึ้นเมื่อใด และจะถึงจุดสิ้นสุดเมื่อใดแน่ อะไรเกิดก่อนอะไรเกิดหลัง หรือเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ก่อนไม่หลัง

2. แนวคิดอัพยากตปัญหา คือแนวความคิดที่อธิบายว่าปัญหาบางเรื่องไม่มีประโยชน์ที่จะแสวงหาคำตอบให้เสียเวลาและเหนื่อยเปล่า ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นเรื่องไม่ประกอบด้วยอรรถ(การปฏิบัติ)ด้วยธรรม(ปริยัติหรือกระบวนการเรียนรู้) ไม่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ความดับกิเลส ความสงบ ความรู้ยิ่ง การตรัสรู้ และนิพพาน

3. แนวความคิดอิทัปปัจจยตา คือแนวความคิดที่อธิบายว่า สรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้โดยปราศจากเหตุปัจจัยเกื้อหนุน กล่าวคือจะต้องมีเหตุปัจจัยหนึ่งสนับสนุนเหตุปัจจัยหนึ่ง และจะถึงการสิ้นสุดลงเมื่อเหตุปัจจัยนั้นดับสิ้นลง ตามหลักการที่ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป”(สํ. นิ. 16/49/103-104)

แหล่งข้อมูล
ข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์หาคำตอบนี้ ได้มาจากอัคคัญญสูตร ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องราวการแสดงพระธรรมเศนาของพระพุทธเจ้า มีเนื้อหากล่าวถึงความเป็นมาของโลกและกำเนิดมนุษยชาติยุคแรกโดยสังเขปดังนี้ คือ

เมื่อโลกมนุษย์ถูกเผาผลาญวอดวายลงด้วยไฟบรรลัยกัลป์ แหลกสลายเหลือเพียงความเวิ้งว้างว่างเปล่าในอวกาศ ผ่านไปเนิ่นนานกระทั่งเกิดพายุฝนห่าใหญ่ตกกระหน่ำลงมา อวกาศที่เคยว่างเปล่าก็เต็มไปด้วยสายน้ำ มีโลกแห่งสายน้ำเกิดขึ้น จากนั้นตะกอนในน้ำก็เกาะกลุ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นกลายเป็นง้วนดิน กระบิดิน เครือดิน

โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าง้วนดินนั้น ว่ากันว่ามีสีเหลืองรสโอชะส่งกลิ่นหอมเย้ายวนชวนให้ลิ้มลอง อาภัสรพรหมหรือเทวดาชั้นอาภัสระผู้มีเรือนร่างเปล่งรัศมีส่องสว่างทนไม่ไหวต้องลงมาลิ้มรส ทันทีที่รสอันโอชะแผ่ซ่านไปทั่วเรือนร่าง รัศมีที่รุ่งเรืองก็พลันหม่นหมองกระทั่งอับแสงดับวูบลง เรือนกายอันเป็นทิพย์ที่เคยหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยปีติ กลับกลายเป็นร่างกายที่หยาบกระด้างเศร้าหมอง เกิดเพศชายเพศหญิงซึ่งแต่เดิมไม่มี

ครั้นเมื่อชายหนุ่มหญิงสาวจ้องมองกันไปมา ความปรารถนาทางเพศก็เกิดขึ้น พวกเขามีเพศสัมพันธ์กันอย่างสาธารณ์ ผู้ที่พบเห็นต่างแสดงอาการรังเกียจก่นประณามหยามเหยียบ จำต้องหาที่มุงบังสร้างบ้านเรือนเกิดครอบครัว มีลูกมีหลานขยายเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้แพร่หลาย รวมตัวกันอยู่เป็นหมู่บ้าน ชุมชน นิคม แว่นแคว้น มีผู้นำที่เรียกว่ากษัตริย์นับแต่นั้นมา

การวิเคราะห์ข้อมูล
จากข้อมูลในพระไตรปิฎกเท่าที่สรุปใจความสำคัญ อันเป็นแหล่งข้อมูลชั้นแรกข้างต้นนั้น เราสามารถนำมาวิเคราะห์หาคำตอบได้ตามแนวความคิดข้างต้น ดังนี้

1. การวิเคราะห์ตามแนวความคิดอนมตัคคะ อธิบายได้ว่าการเกิดขึ้นของโลกและมนุษย์เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจค้นหาและกำหนดนับช่วงเวลาที่ชัดเจนได้ กล่าวคือไม่อาจกล่าวโดยเฉพาะเจาะจงลงไปได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ณ เวลาใด สรุปว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจล่วงรู้ได้ จึงไม่ปรากฏข้อมูลยืนยันในพระไตรปิฎก

2. การวิเคราะห์ตามแนวคิดอัพยากตปัญหา อธิบายได้ว่าการค้นหาคำตอบเรื่องช่วงเวลาว่าโลกและมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นเมื่อใดเป็นปัญหาที่ไม่เกิดประโยชน์ที่จะค้นหาคำตอบ ด้วยเหตุผลว่า
2.1 การค้นหาคำตอบนั้นไม่ประกอบด้วยอรรถ(การปฏิบัติ) คือเมื่อรู้คำตอบหรือหาคำอธิบายได้ก็ไม่ก่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาจำเป็นเร่งด่วนในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ไม่ประกอบด้วยธรรม(ปริยัติ) คือไม่ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใดๆที่จะช่วยให้มนุษย์บรรลุนิพพานได้ ไม่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ความดับกิเลส ความสงบ ความรู้ยิ่ง การตรัสรู้ และนิพพาน พระพุทธเจ้าจึงไม่ตอบคำถามเรื่องเหล่านี้ ที่เรียกว่าอัพยากตปัญหา คือ
-โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง
-โลกมีที่สิ้นสุดหรือไม่มีที่สิ้นสุด
-ชีพก็อันนั้นสรีระก็อันนั้น หรือชีพอย่างหนึ่งสรีระก็อย่างหนึ่ง
-สัตว์(มนุษย์)ตายแล้วเกิดอีกหรือตายแล้วไม่เกิดอีก
-สัตว์ตายแล้วเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี หรือตายแล้วเกิดอีกก็มิใช่ ไม่เกิดอีกก็มิใช่

พระพุทธเจ้าไม่ให้ความสำคัญกับโลกทางกายภาพหรือโลกในความหมายทางภูมิศาสตร์ แต่ให้ความสนใจเฉพาะโลกที่ยาวหนึ่งวาหนาหนึ่งคืบอันได้แก่ตัวตนของมนุษย์แต่ละคน ในแง่มุมด้านจิตวิญญาณที่ถูกครอบงำด้วยกิเลส และเสนอแนวทางปลดเปลื้องมนุษย์ให้เป็นอิสระจากการครอบงำนั้น ตามหลักธรรมที่เรียกอริยสัจ 4 นี่ต่างหากคือโลกที่แท้จริง ที่ต้องให้ความสนใจและดำเนินการแก้ไขปัญหาการถูกกิเลสครอบงำอย่างเร่งด่วน การถกเถียงเรื่องโลกทางกายภาพ เรื่องดวงดาวดินฟ้าอากาศว่าเกิดขึ้นเมื่อใด เพียงเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น ไม่อาจนำพามนุษย์ให้ก้าวเดินไปสู่ความพ้นทุกข์ได้

2.2 การค้นหาคำตอบนั้นไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ คือคำตอบนั้นไม่อาจโน้มน้าวบุคคลให้หันไปปฏิบัติตามแนวทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทาหรือมรรคมีองค์ 8 เพื่อมุ่งไปสู่การลดละเลิกกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตวิญญาณได้
2.3 การค้นหาคำตอบนั้นไม่เป็นไปเพื่อสร้างความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อการตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน

พุทธศาสนามีทัศนะว่า ไม่ว่ามนุษย์จะเพียรพยายามค้นหาคำตอบเกี่ยวกับโลกทางวัตถุด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำยุคสักเพียงใด ความทุกข์หรือปัญหาอันเกิดจากการถูกกิเลสครอบงำก็จะยังคงดำรงอยู่เช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีวันจะปลดเปลื้องลงไปได้ ตราบเท่าที่มนุษย์ยังไม่หันมาสนใจโลกที่หมายถึงตัวตนของมนุษย์เอง เมื่อทุกคนดูแลตนเองได้ก็ไม่เกิดปัญหาทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

3. การวิเคราะห์ตามแนวคิดอิทัปปัจจยตา อธิบายได้ว่าจุดกำเนิดของโลกและมนุษย์ดำเนินมาหรือวิวัฒนาการมาตามเหตุปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเองอย่างบังเอิญ และไม่มีผู้สร้างให้เกิด ทว่าเกิดขึ้นตามความพรั่งพร้อมของเหตุปัจจัยที่มาเกาะเกี่ยวผสมผสานกัน จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใดอย่างเฉพาะเจาะจง กล่าวได้แต่เพียงว่าเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยพรั่งพร้อมบริบูรณ์เท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดอนมตัคคะ เราอาจเรียงลำดับเหตุปัจจัยอย่างคร่าวๆว่า

-โลกถูกไฟเผาผลาญ-เย็นลงเรื่อยๆ-เกิดฝนตก-ลมหรืออากาศธาตุรองรับน้ำ-เกิดตะกอนในสายน้ำเกาะตัวเป็นกลุ่มก้อน-เกิดง้วนดิน กระบิดิน เครือดินส่งกลิ่นหอม-อาภัสรพรหมลงมาลิ้มรส-เรือนร่างหม่นหมองอับรัศมี-กายทิพย์หยาบกระด้าง-มีเพศชายหญิงปรากฏ-การจ้องมองอย่างเพ่งเล็ง-เกิดความปรารถนาทางเพศ-มีเพศสัมพันธ์อย่างเปิดเผย-ถูกสังคมประณาม-สร้างบ้านเรือนปิดบัง-มีลูกหลานเกิดขึ้น-สังคมขยายตัว-เกิดหมู่บ้าน ชุมชน เมือง แว่นแคว้น(รัฐ)-มีผู้นำผู้ปกครอง(กษัตริย์) ฯลฯ

จากการวิเคราะห์ดังกล่าวทำให้พบว่าโลกทางกายภาพเกิดขึ้นตามความพรั่งพร้อมเหตุปัจจัยทางกายภาพที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่ดังได้กล่าวมา ส่วนเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดมนุษย์และสังคมมนุษย์นั้นอาจวิเคราะห์ได้ในลักษณะเดียวกัน ดังนี้

ก่อนโลกถูกเผาผลาญ-มนุษย์รักษาศีล-ปฏิบัติธรรม-บรรลุฌานสมาธิขั้นทุติยฌาน-เสียชีวิตเมื่อโลกพินาศ-ถือกำเนิดเป็นอาภัสรพรหม-ได้กลิ่นง้วนดิน-เกิดตัณหา-ลงมาเสพกินลิ้มรส-รัศมีในกายทิพย์อับแสง-กายทิพย์แปรสภาพเป็นกายหยาบ-เกิดเพศชายและหญิง-เกิดความยึดถือเข้าใจในเพศ-กิเลสราคะในใจฟูขึ้น-มีความสัมพันธ์ทางเพศ-เกิดการตั้งครรภ์-คลอดทารกออกมา-เกิดสังคม-ชุมชน-หมู่บ้าน-แว่นแคว้นหรือรัฐ-มีผู้นำสังคม-เกิดการจัดระเบียบความเป็นอยู่-มีการสถาปนายศศักดิ์-เกิดการแบ่งชนชั้น-แย่งชิงยึดครองปัจจัยการดำรงชีพ-เกิดความขัดแย้ง ฯลฯ

จากข้อมูลและการวิเคราะห์ข้างต้น อธิบายได้ว่าอาภัสรพรหม คือเทวดาจำพวกหนึ่งที่มีเรือนร่างผ่องใสแผ่รัศมีได้ มีปีติความอิ่มใจอันเกิดจากสมาธิเป็นอาหาร ไม่จำเป็นต้องแสวงหาอาหารมาใส่ปากก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้ แต่เพราะพ่ายแพ้ต่อแรงปรารถนา(ตัณหา)ที่จะลิ้มรสง้วนดิน (ซึ่งเป็นของหยาบ ไม่ใช่อาหารของเทวดา) จึงเผลอสติไปเสพกิน เรือนร่างอันสุกสกาวผ่องใสก็เศร้าหมองหมดราศี ถึงความเสื่อมทางคุณธรรม ความสำนึกทางศีลธรรมเสื่อมสูญตกต่ำ จึงเกิดร่างกายหยาบแบบมนุษย์ขึ้นมา มีเพศชายเพศหญิงสมบูรณ์ เกิดความรู้สึกทางเพศ จึงมีความสัมพันธ์ทางเพศแบบเปิดเผย เมื่อถูกประณามก็สร้างบ้านเรือนขึ้นมาปิดบังการกระทำนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงกล่าวได้ว่ามนุษย์มีชาติกำเนิดมาจากเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ผู้มีกิเลสด้วยกันนี่เอง ไม่ได้มาสืบเชื้อสายมาจากเทวดาหรือเทพผู้ประเสริฐอย่างที่เข้าใจ โดยกำหนดนับว่าความเป็นมนุษย์นั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บรรพบุรุษของเรามีร่างกายหยาบ มีหูมีตาพร้อมทั้งอวัยวะส่วนอื่นๆครบถ้วนอย่างมนุษย์ในปัจจุบัน มีความรู้สึกทางเพศและเริ่มต้นสร้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ขึ้นมา

เราจะต้องกำหนดจุดเริ่มต้นของการตัดสินฟันธงให้ชัด โดยเริ่มตรงช่วงเวลาที่เรามีร่างกายแบบมนุษย์ ไม่ใช่เริ่มพิจารณาตั้งแต่ช่วงที่มีกายทิพย์แบบเทวดา ซึ่งจะทำให้วิเคราะห์ผิดพลาด และได้คำตอบที่บิดเบือนความจริง ก่อเกิดทัศนะว่าคนไม่เท่าเทียม มีการปฏิบัติต่อกันอย่างแตกต่างที่เรียกว่าสองมาตรฐาน

ความเป็นเทวดาผู้ประเสริฐได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ช่วงเวลาที่เริ่มมีร่างกายหยาบ และไม่สามารถดำรงชีพด้วยพลังปีติอันเกิดจากฌานสมาธิได้อีกต่อไป เป็นการถดถอยกลับมาสู่ความเป็นมนุษย์เช่นเดิม เช่นเดียวกับช่วงเวลาก่อนที่โลกจะพินาศย่อยยับลงไปด้วยไฟบรรลัยกัลป์นั่นเอง

จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปคำตอบได้ชัดเจนว่า
1. โลกก่อกำเนิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยทางกายภาพเข้ามาเกื้อหนุนอย่างพรั่งพร้อม เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ถือกำเนิดขึ้นจากเหตุปัจจัยภายในจิต คือการรับรู้ยึดถือในเพศชายหญิง ก่อเกิดแรงปรารถนาที่อยู่นอกเหนือการควบคุม จึงให้กำเนิดมนุษย์ขยายตัวเป็นสังคมครอบครัว หมู่บ้าน ชุมชน และรัฐต่อมา
2. แหล่งอ้างอิงความเสมอภาคเท่าเทียมกันของมนุษย์นั้น อยู่ที่การได้สถานภาพความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดที่มาเช่นเดียวกัน กล่าวคือแต่ละคนได้สืบเชื้อสายมาจากมนุษย์เช่นเดียวกัน ที่ไม่มีข้อกำหนดกฏเกณฑ์ใดๆเลย ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างไม่เท่าเทียม ส่วนประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ จะเท่าเทียมกันหรือไม่อย่างไร เพราะอะไร จะขอนำเสนอในครั้งต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น