วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
DSI รับลูกรัฐบาลเตรียมตรวจสอบการโอนเงินเข้าบัญชีเสื้อแดง.
วันนี้ (11 กุมภาพันธ์) นายจุตพร พรหมพันธ์ หนึ่งในแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ยืนยันหารือนัดพี่น้องเสื้อแดงชุมนุมใหญ่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้แน่นอน โดยใช้สถานที่จากท้องสนามหลวงเรื่อยไปตามถนนราชดำเนินถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุวันที่แน่ชัดได้
ด้าน นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี สั่งเพิ่มการ์ดรักษาความปลอดภัยบ้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หลังถูกปาสิ่งปฏิกูลเข้าไปภายในบ้านได้อย่างง่ายสุดและจนถึงบัดนี้ยังไม่สามารถจับผู้ดำเนินการได้ ล่าสุดจ่ายเก้าแสนบาท ติดซีซีทีวีให้เจ้าของตึกสูงโดยรอบ แจ้งชื่อบุคคลเข้าออก
คงจำกันได้ว่าก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐบาลออกมาปูดข่าวมีการโอนเงินจากต่างประเทศเข้าบัญชีแกนนำคนเสื้อแดง ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมารับลูกเตรียมใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ตรวจสอบการโอนเงินจากต่างประเทศให้กับบรรดาแกนนำคนเสื้อแดง
แสดงว่าข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้รัฐบาลไม่มีหลักฐาน เพียงแต่เดาเหตุการณ์ล่วงหน้าว่ากำลังมีการโอนเงินจากต่างประเทศเข้าบัญชีแกนนำ จึงสร้างข่าวขึ้นมาเพื่อให้หน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ
ขอเตือนด้วยความหวังดี การที่รัฐบาลใช้วิธีการสร้างข่าวโดยยึดถือคติโบราณ “กันไว้ดีกว่าแก้” ก็ดีอยู่ แต่อาจมีหลายฝ่ายมองว่าเป็น “กระต่ายตื่นตูม” หรือไม่ก็ใช้อำนาจ “เผด็จการ” ก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพบุคคนอื่นโดยการสร้างกระแสข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวหลอก ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ทั้งที่ไม่มีมูลความจริง
วานนี้ (10 กุมภาพันธ์) แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ประกาศบนเวทีหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สัปดาห์หน้าจะไปชุมนุมที่หน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม ถามจริยธรรม คนในตระกูลโสภณพานิช กรณีเขาสอยดาวและการปล่อยการปล่อยกูหนุ่มเสก
วันนี้ (วันที่ 11) กุมภาพันธ์ แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน บอกเวลานี้มวลชนพร้อมแล้ว คาดวันที่ 20 กุมภาพันธ์จะมีการประชุมและแถลงมติกำหนดวันชุมนุมใหญ่มั่นใจ 1 ล้านคนได้แน่
กลุ่มคนเสื้อแดง จังหวัดอุบลราชธานี เชิญชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมแสดงพลังออกไปต้อนรับ นายสาทิตย์ วงษ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ซึ่งจะลงพื้นที่ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและรองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า กล่าวกรณียึดเงิน “ทักษิณ” กระทบตลาดหุ้นต่ำ หลังนักลงทุนชะลอการซื้อ
พ.ต.อ.บรรจบ สุดใจ ประธานชมรมข้าราชการตำรวจบำนาญ 41 เดินทางไปกองปราบ ร้องทุกข์กล่าวโทษนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กรณีไม่แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจ (ผบ.ตร) ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด พ.ต.อ.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปราม เป็นผู้รับเรื่อง
วันนี้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง 5 ผู้ต้องหาขนอาวุธจากเกาหลีเหนือ อ้างถ้าฟ้องกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไทยไม่ได้ประโยชน์อะไร
วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
ประธานชัย ไม่หนักใจพันธมิตรฯ ยื่นถอดถอน 102 ส.ส.
นายชัย ขิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าวไม่หนักใจที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นถอดถอน 102ส.ส.โยนญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สภาดูแล ประกาศไม่หวั่นพันธมิตรฯ ยื่นถอดถอน 102 สส.ผลปรากฏที่ประชุมเลื่อนพิจารณาญัตติดังกล่าว ปัดไม่ได้เป็นการต่อรองผลประโยชน์
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ชาติ ย้ำหนุนร่าง คปพร. แต่ไม่นิรโทษกรรมนักการเมือง
ด้านนายแพทย์เหวง โตจิราการ หนึ่งในแกนนำ นปช. (แดงทั้งแผ่นดิน) กล่าวหากล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คปพร. เจอม็อบประชาชนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนแน่ พร้อมทั้งปฎิเสธแดงชุมนุมใหญ่ก่อนวันตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านของอดีตนายกฯ ทักษิณ เพราะการชุมนุมใหญ่เป็นมติของแกนนำ อยู่ที่ว่ารัฐบาลตอบคำถามเรื่องการบริหารงาน 2 มาตรฐานและคดีต่างๆ ของพันธมิตรฯ รวมทั้งบรรดาคดีเหล่าอำมาตย์คืบหน้ามากน้อยแค่ไหน
มติที่ประชุมรัฐสภา 278 : 212 เลื่อนถกญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป หลังโต้แย้งกันเกือบ 3 ชั่วโมง
โอ๊ค เอม ยื่นศาลฎีกาคุ้มครอง / ทวิตเตอร์ทักษิณ
วันนี้ (11 กุมภาพันธ์) นายพานทองแท้ (โอ๊ค) และนางสาวพิณทองทา (เอม) ชินวัตร ได้ยื่นศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณามีคำสั่งคุ้มครองการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สื่อ นักการเมือง หยุดวิพากษ์วิจารณ์คดียึดทรัพย์ของครอบครัวในทางเสียหาย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการชี้นำศาล
วันนี้อดีตนายกฯ “ทักษิณ” ได้ทวิตเตอร์ให้กำลังใจครอบครัวที่ถูกกลั่นแกล้ง ยืนยันไม่ยอมแพ้และจะสู้จนกว่าจะได้รับความยุติธรรม
มีข่าวลึกแต่ไม่ลับจากบรรดาสื่อสารมวลชนปิดกันให้แซ่ดว่า อำมาตย์สั่งการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)เตรียมลงดาบสอง อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โดยตัดสิทธิ์ทางการเมืองและสั่งจำคุก ข้อหายื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ ซึ่งเรื่องนี้มีข่าวเล็ดลอดออกมา ว่าจะดำเนินการหลังจากตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านเรียบร้อยแล้ว
หากข้อมูลดังกล่าวมีมูลความจริง จะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ชาวโลกแน่ใจ ประเทศไทยมี 2 มาตรฐาน กระบวนการยุติธรรมสั่งได้ ตามที่สื่อหลายแขนงและกลุ่มคนเสื้อแดงพยายามชี้ให้สังคมมองเห็นภาพ และตอกย้ำถึงเหตุผลของการยึดอำนาจ 19 กันยา ว่าคำพูดสวยหรูที่บรรดาผู้นำการปฏิวัติ-รัฐประหาร นำมากล่าวอ้างเป็นเพียงเหตุผลลวงโลก แท้จริงแล้วก็เพื่อโค่นล้มอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทยซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในเวลานั้น
รายการ Talk around the World 8 กุมภาพันธ์ 2553
โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทาง www.thaksinlive.com
วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 20.30-21.30 น.
ถอดความโดย konbangpood
------------------------------------------------
เกริ่นนำ
วันนี้มีเสื้อแดงจากเยอรมันแวะมาเยี่ยมที่บ้านสามคน เป็นคนไทยที่ได้ไปแต่งงานทำมาหากินมีฐานะดี บางคนเป็นเจ้าของโรงงาน เขาซื้อขาหมูและไส้กรอกที่ขึ้นชื่อของเยอรมันมาฝาก ทั้งที่ผ่านมาหลายวันและไม่กรอบ แต่อร่อยมาก เป็นเนื้อหมู่ที่ไม่มีมัน ต้องขอบคุณที่ส่งตัวแทนมาเยี่ยมผม อีกคนเป็นชาวบ้านแม่คำปอง อำเภอสันกำแพง เขาบอกว่าหลังจากที่ผมไปเยี่ยมบ้านแม่คำปองแบบทัวร์นกขมิ้น เห็นว่าเป็นหมู่บ้านมีบรรยากาศน่าอยู่ จึงแนะนำให้เขาได้ทำโฮมสเตย์ ปรากฏว่าวันนี้มีคนไปท่องเที่ยวกันมาก ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น
เครียดหรือไม่
เขาถามผมว่าไม่เครียดหรือ ถ้าผมมองแคบๆมองเฉพาะปัญหาตัวเอง มันก็น่าจะเครียด เพราะถูกเล่นงานหนักขนาดนี้ แต่ถ้ามองว่าผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องคนไทยเป็นล้านๆคน เสียสละเวลาเงินทองและเสี่ยงชีวิตมาช่วยผมอย่างนี้ ผมควรจะมีความสุข ไม่ควรจะเครียด แกนนำบางคนขายที่ดินเพื่อนำเงินมาต่อสู้ เพราะผมเองไม่สามารถจะดูแลใครได้ เชื่อไหมว่าคนที่ไปอยู่เยอรมันเขาไปด้วยเงินกู้ของกองทุนหมู่บ้าน ไปทำงานพักหนึ่งก่อนพบเนื้อคู่ซึ่งเป็นวิศวกรแล้วแต่งงานกัน พอมีฐานะดีก็กลับมาช่วยคนเสื้อแดง เพราะเขานึกถึงว่าที่ไปเยอรมันได้ก็เพราะเงินกองทุนหมู่บ้าน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นครอบครัวของเขาอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด จึงตัดสินใจเดิมทางไปเสี่ยงดวงที่เยอรมัน และประสบความสำเร็จ ทุกครั้งที่มีการชุมนุมใหญ่ก็จะเดินทางบินกลับมา เอาข้าวน้ำอาหารไปช่วยในที่ชุมนุม ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย ยังมีอีกหลายคนที่มาช่วยเหลืออย่างนี้ที่ผมไม่ได้พูดถึง เวลานี้เราจะต้องเป็นกำลังใจให้กันและกัน
จะแก้หรือผูกปมปัญหา
ช่วงนี้ผมได้รับรายงานอยู่เรื่อยๆว่ามีการเสริมกำลังทหารตรงนั้นตรงนี้ ทำให้นึกแปลกใจว่าเรื่องง่ายๆแค่นี้ทำไมไม่คิดแก้ไข แต่มาทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากไปได้ ความจริงไม่เห็นมีอะไรเลย ก็แค่คืนความเป็นธรรมให้สังคม คืนประชาธิปไตยให้เขาไป บ้านเมืองก็จะสงบสุขเดินไปได้ ประชาชนจะได้ไปทำมาหากิน ทหารจะได้ไปทำหน้าที่ของเขา ไม่ต้องมาคอยอารักขานายกด้วยกำลังพลเป็นหมื่น เรื่องสองมาตรฐานก็เหมือนกัน ไปทำให้มันเกิดครั้งแล้วครั้งเล่าทำไม ตอนผมยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษก็นำเรื่องไปเก็บไว้ที่กรมราชทัณฑ์ แต่พอคดีของสนธิ ลิ้มทองกุล เรื่องอยู่ที่อัยการ กลับให้ยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษได้ มันเหมือนเป็นการยิ่งผูกปมปัญหาให้ใหญ่ขึ้น แทนที่จะแก้ปมกลับเพิ่มปม ผมไม่เข้าใจจริงๆในวิธีคิดของพวกท่าน เป็นเพราะอำมาตย์เลือกรัฐบาลผิดหรือเปล่า ถึงได้วุ่นวายอย่างนี้ แทนที่จะสร้างความปรองดองกลับขันเกลียวให้แน่นขึ้น ไม่ว่าใครที่เฝ้ามองอยู่เขาก็รับไม่ได้ ความจริงแค่ปล่อยให้ระบบมันเดินไปได้เองโดยไม่เข้าไปแทรกแซง เท่านั้นก็แก้ปัญหาได้ ที่เป็นปัญหาอยู่นี้เพราะมีการเข้าไปแทรกแซงระบบ สิ่งที่คนเสื้อแดงถูกกระทำอยู่ในเวลานี้มันเป็นผลพวงที่มาจากการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ทั้งสิ้น ปัญหาในระบอบประชาธิปไตยก็ควรแก้ไขโดยระบบของมัน ทำไมไปนำเอาการรัฐประหารมาแก้ หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเรื่อยๆต่อไป มันก็เป็นเรื่องของท่าน เป็นปัญหาที่ท่านต้องแก้และสามารถแก้ได้ แต่ทำไมไม่แก้
มีคำถามว่าการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนั้นจะทำอย่างไร และประชาชนจะมีบทบาทอย่างไร ผมก็อธิบายให้ฟัง เรื่องจะยื่นฟ้องศาลโลก(หากถูกยึดทรัพย์)จะทำอย่างไร ผมก็บอกว่าตอนนี้นักกฎหมายหลายท่านที่เดินทางมาพบกำลังเตรียมการอยู่ เพราะมันเคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของเรานี่เอง อย่างที่เคยบอกว่าความเป็นธรรมไม่ว่าจะอยู่ในนรกหรือสวรรค์ก็ต้องตามหาให้เจอ มันเป็นสัญชาตญาณการต่อสู้ของมนุษย์ที่ต้องการความเป็นธรรม ผมจบปริญญาเอกด้านการบริหารกระบวนการยุติธรรม จึงเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีจนกลายเป็นอุดมการณ์ที่ฝังลึก เรื่องยอมจึงไม่มี
แนะวิธีขายหุ้นระดมทุน
ผมขอเล่าต่อจากครั้งที่แล้ว เรื่องว่าขณะที่ผมมีหนี้สินแล้วนำหุ้นเข้าตลาดหลักเพื่อให้ได้เงินมาทำธุรกิจนั้น ทำได้อย่างไร เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่มีหุ้นหรือต้องการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ ขอเริ่มที่คำถามว่าการนำเอาหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์คืออะไร ก็คือการนำเอาอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเราเข้าตลาดหลักทรัพย์ อดีตก็คือเคยทำอะไรมา ปัจจุบันกำลังทำอะไรอยู่ และอนาคตจะทำอะไร แล้วมาตีราคาเป็นตัวเลขว่าทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคตมันควรจะมีราคาเท่าไร จะทำกำไรได้อย่างไร เพื่อที่เมื่อนำเข้าตลาด
หลักทรัพย์แล้วคนเขาจะได้ตัดสินใจซื้อ
อดีตของผมก็คือทำคอมพิวเตอร์ วิทยุติดตามตัว เคเบิลทีวี โทรศัพท์มือถือ ในอนาคตจะทำอะไร ก็คือจะขยายโทรศัพท์มือถือออกไปอย่างไร จะยิงสัญญาณดาวเทียมอย่างไร เสร็จแล้วก็ยื่นเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2533 ขอเล่าอดีตให้ฟังนิดหนึ่งว่า ก่อนที่จะมีโทรศัพท์มือถือ เซลลูล่าโฟนยังไม่เกิด แต่ว่ามีโทรศัพท์ไร้สายใช้ในบ้าน คือถ้ามีวิทยุที่มีกำลังส่งสูงก็สามารถใช้โทรศัพท์นอกบ้านได้ไกล ตอนนั้นผมยังเป็นตำรวจได้เดินทางไปซื้อเครื่องมือพวกนี้ที่ฮ่องกง นำมาทดลองใช้ พอเห็นว่าได้ผลดีก็หิ้วไปพบคุณประพัท โพธสุธน ซึ่งรู้จักกันมาตั้งแต่ปี 2518 ตอนนั้นท่านเป็นเลขาคุณทินกร พันธุ์กวี รมช.กระทรวงการคลัง ผมเป็นนายตำรวจช่วยราชการคุณปรีดา พัฒนถาบุตร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผมบอกคุณประพัทว่าอนาคตข้างหน้าเราสามารถหิ้วโทรศัพท์ไปได้ทั่วโลก เขาว่าผมบ้า เป็นไปได้ยังไง ที่ผมพูดอย่างนั้นเพราะได้ไปเข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องโทรคมนาคมบ่อยครั้ง มีสัมมนาที่ไหนก็ไป เพื่อเข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะผมไม่ได้จบทางด้านวิศวะ
วิกฤตรัฐคือโอกาสคนจน
ต่อมาโทรศัพท์มือถือก็เริ่มมีการนำมาใช้โดยการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโลล่า ที่เราเคยเห็นอันใหญ่ๆคล้ายกระดูกที่สุนัขชอบคาบเล่น องค์การโทรศัพท์ก็มียี่ห้ออีริกสัน เป็นรุ่นอะนารอกเหมือนกัน มีน้ำหนักหลายกิโล หิ้วไปไหนต่อไหนได้ สรุปว่ามีสองยี่ห้อแข่งขันกัน ช่วงนั้นเป็นยุคสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยมีปัญหาทางการเงินและต้องเป็นลูกหนี้ไอเอ็มเอฟรอบแรก ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลขณะนั้น ไอเอ็มเอฟออกคำสั่งห้ามประเทศไทยโดยเฉพาะองค์กรรัฐวิสาหกิจ เป็นหนี้ คือรัฐเป็นหนี้มากแล้ว ถ้าขืนให้กู้เงินอีกหนี้สาธารณะก็จะสูง จึงมีการอนุญาตให้เอกชนเข้ามาขยายการลงทุนแทนภาครัฐ
แต่เนื่องจากกฎหมายขณะนั้นยังล้าหลังจึงใช้ระบบบีทีโอ คือเอกชนมาลงทุนแล้วมอบสิ่งนั้นให้เป็นของรัฐ หลังจากเขาได้ใช้สิทธิ์ดำเนินธุรกิจทำมาหากินแบ่งรายได้ให้รัฐไปถึงช่วงเวลาหนึ่ง ผมจึงไปขออนุญาตทำกิจการโทรศัพท์มือถือ โดยเสนอตัวแข่งขันกับบริษัทหนึ่ง เข้าใจว่าน่าจะเป็นบริษัทอีริกสัน โดยเสนอใช้โนเกียเอ็นเอ็นที 900 ขณะเสนอก็รู้แล้วว่าจีเอสเอ็มกำลังจะเข้ามา จึงเสนอไปด้วยว่าภายใน 5 ปีจะทำจีเอสเอ็มด้วย เป็นการเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงมากในช่วงนั้น แต่เปรียบเทียบกับตอนนี้ถือว่าไม่สูง เพราะเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี มันเปลี่ยนไป ทำให้เซลลูล่าเติบโตเร็วเกินกว่าที่คาดคิด ขนาดคิดล่วงหน้าแล้วก็ยังคิดไม่ทัน ตรงนี้เป็นที่มาของการได้สิทธิทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือเซลลูล่า
ผมเป็นคนบุกเบิกโทรศัพท์มือถือโนเกียรุ่นแรก แต่เดิมบริษัทนี้ทำกระดาษ โทรทัศน์ ปืนล่าสัตว์ โทรศัพท์เพิ่งมาทำทีหลัง ซึ่งยังไม่แพร่หลายเท่าไร ตอนผมไปดูงานก็เห็นว่าเป็นบริษัทเล็กๆยังขยายตัวไม่ออก ผมจึงเป็นลูกค้ารุ่นแรกๆร่วมกับทางอิตาลี เราได้บุกเบิกร่วมกันจนเติบโต ปริมาณลูกค้าเอ็นเอ็นทีเติบโตขึ้นเท่าๆกับอิตาลี
ที่เล่ามาก็เพื่อจะชี้ว่าต้องศึกษาถึงสิ่งที่เราจะทำ เพื่อให้รู้ว่าวิวัฒนาการมันมาถึงไหนและจะไปอย่างไร เราจะได้วางแผนล่วงหน้าได้ ถ้าลงทุนไปแล้วเทคโนโลยีมันล้าสมัยเร็วก็จะทำให้ขาดทุน การค้าขายเกี่ยวกับเทคโนโลยีจึงต้องระมัดระวัง
หลังจากนั้นรัฐก็ให้เอกชนลงทุนเรื่อยมา ท่านจำได้หรือไม่ ช่วงปี 2534 ที่พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ทำการปฏิวัติ แล้วให้คุณอานันท์ ปัญญารชุน เป็นนายก มีโครงการให้ทำโทรศัพท์บ้านสามล้านเลขหมาย ทีแรกทางซีพีจะทำเองทั้งสามล้านเลขหมาย แต่คุณอานันท์จับแยกเป็นสองล้านกับหนึ่งล้าน สองล้านในกรุงเทพฯให้ซีพีไป อีกหนึ่งล้านให้กลุ่มบริษัทล็อกเล่ย์ของดร.อดิศัย โพธารามิก
ต้องวินกันทุกฝ่าย
ผมเองไม่ได้เข้าประกวดราคาช่วงที่ประมูลสองล้านเลขหมายในกรุงเทพฯ เพราะยังไม่พร้อม พอมีการประกวดราคาหนึ่งล้านเลขหมายในต่างจังหวัดจึงเข้าประกวดด้วย แต่แพ้ เพราะเสนอไป 33 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเสนอไปมากกว่านั้นรับรองเจ๊งแน่นอน บริษัทที่ชนะเสนอไป 40 เปอร์เซนต์ แต่แล้วเมื่อดำเนินการก็มีปัญหาจริงๆเพราะไม่สามารถเสนอผลตอบแทนให้รัฐได้ตามนั้น ก็เลยมีการเจรจาแก้ปัญหากันไป ผมเป็นคนที่ไม่ชอบตกลงอะไรไปแล้วมาปฏิเสธทีหลัง สู้เราปฏิเสธก่อนแล้วค่อยมาตกลงกันทีหลังดีกว่า นั่นคือหลักการของผม ไม่ได้หมายความว่าถ้าเข้าประกวดราคาแล้วเราต้องให้สูงเพื่อจะชนะตลอด เราต้องให้ในราคาที่เราอยู่รอดได้ เท่าที่เราสามารถให้บริการที่ดีแก่ลูกค้าได้ เพราะลูกค้าสำคัญที่สุด คือต้องวินๆไปด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ผมได้ยึดเป็นแนวทางมาโดยตลอด
เมื่อเตรียมอดีตปัจจุบันแล้ว ผมต้องมาวาดภาพอนาคตว่าบริษัทจะเติบโตได้อย่างไร ผมมองเรื่องดาวเทียม มองเรื่องการขยายเคเบิลทีวี เรื่องเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนไป แต่ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่เกิด มองแต่ว่าอนาคตข้างหน้า โทรศัพท์เบอร์เดียวที่เรามีอยู่ สามารถถือไปไหนได้ทั่วโลกและใช้เบอร์นั้นเบอร์เดียวตลอดเวลา นาโนเทคโนโลยีก็ยังไม่เกิด มันยังอยู่ในแลป เราจึงไม่สามารถเดาได้ว่าโทรศัพท์มือถือจะเล็กลงขนาดนั้น เราคาดการณ์ไม่ได้ แต่ก็บอกอนาคตได้ระดับหนึ่ง
ผมจึงมาคิดว่าถ้าลงทุนขนาดนั้นจะไปเอาเงินที่ไหน เซลลูล่าลงทุนกันทีใช้เงินเป็นหมื่นล้าน ทีแรกเราลงทุนไปเพียงไม่กี่ร้อยล้านเพราะไม่กล้าลงมาก ในวันนั้นผมยังไม่มีเงินและยังมีหนี้ จึงมาคิดกันว่าจะทำอย่างไร ต่อมามีคนมาแนะนำให้เอาหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีนักบัญชีคนหนึ่งมาแนะนำให้ทำบัญชีให้ถูกต้องตามหลักสากล และให้บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับสากลมาตรวจสอบ เพื่อที่คนทั่วไปจะได้เชื่อถือ และมาดูว่าจะตัดอะไรออกจะเอาอะไรมาเพิ่มเพื่อให้มีธุรกิจที่น่าสนใจ ทำให้มีความชัดเจนว่าเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี บังเอิญว่าช่วงนั้นเศรษฐีทั้งหลายในประเทศไทยยังตามเรื่องเทคโนโลยีไม่ทัน เราจึงได้เปรียบ ถ้าเศรษฐีตามเทคโนโลยีทัน คนจนอย่างผมเกิดไม่ได้หรอก โดนเขาบี้ตายก่อน
รอดตัวเพราะหัวทักษิณ
มีธนาคารหนึ่ง ช่วงที่ทำคอมพิวเตอร์ ผมเอาแนวคิดไปเสนอขอกู้เงิน ปรากฏว่าเขาไม่ให้กู้ แต่อีกไม่กี่เดือนต่อมา เขาเอาญาติของเขาไปทำอย่างผม ไปติดต่อเสนอไอเดียเหมือนผมทุกอย่าง แต่ไอบีเอ็มเขาเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัทผม เพราะผมเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี เขาค่อนข้างจะสนับสนุนผม จึงโชคดีได้เกิด ไม่งั้นไม่ได้เกิดหรอก เพราะถ้าต้องแข่งกับเศรษฐีผมไม่มีทางสู้เขาได้ ระบบทุนนิยมนั้นเขาใช้ทุนทุบกันเลย แต่ในการลงทุนทำธุรกิจที่ต้องใช้สมอง มีทุนอย่างเดียวมันยังไม่พอ เพราะอย่างนี้ผมจึงรอดตัวมาได้ เหมือนกับตอนที่ทำโทรศัพท์มือถือ บรรดาเศรษฐีก็ยังไม่เข้าใจเท่าไร แต่พอผมได้ลายเส้นแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย ก็เลยตัดสินใจเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ หลังให้นักบัญชีตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ผมจ้างที่ปรึกษาการเงินมาช่วยดูแลด้วย ตอนนั้นผมจ้างภัทระกับธนชาติมาช่วย เขามาช่วยดูแลตกแต่งหน้าตาให้ดูดีเป็นที่พอใจ ก่อนนำเข้าจดทะเบียน
รวยร้อยล้านครั้งแรก
ตอนนั้นผมมีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท แต่ความจริงก็ไม่มีจ่ายเข้าไปเลย มีเพียงค่าธรรมเนียม 5 หมื่นบาท ก็ทำบัญชีว่ากรรมการกู้ยืมไป ติดหนี้ไว้ตลอด (ลืมไปว่าตอนทำเซลลูล่าผมแปะโนเกียไว้ก่อน บอกเขาไปว่าจ่ายได้ส่วนหนึ่งก่อน ที่เหลือจะเก็บรายได้ส่งทีหลัง เพราะความที่อยากบุกตลาดก็เลยยอม) ก่อนนำเข้าตลาดที่ปรึกษาบอกว่าต้องเพิ่มทุน เพราะทุนแค่นี้มันไม่พอ เขาบอกว่าต้องเพิ่มทุนสองพันล้าน ผมก็หนักใจว่าจะไปหาทุนที่ไหนมา แต่เขามั่นใจว่าเป็นหุ้นที่ขายได้แน่ จึงแนะนำให้ผมไปกู้เงินเพื่อนำมาจ่ายเพิ่มทุน แล้วใบหุ้นที่เพิ่มทุนนั้นก็ให้เขาถือไว้ เมื่อเอาหุ้นเข้าตลาดได้ก็ขายหุ้นบางส่วนออกเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ราคาหุ้นละ 10 บาท ปรากฏว่าขายได้กำไรหลายเท่า ทำให้ได้เพิ่มทุนใส่กลับเข้าไปในบริษัท ระบบทุนนิยมมันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรามีของดี ใครเขาก็อยากให้กู้ ผมจึงได้ไปกู้เงินที่บริษัทในเครือธนาคารกรุงเทพฯของดร.ชัยยุทธ์ เพื่อนำไปเพิ่มทุน มีเงินเข้ามาจ่ายหนี้ขยายการลงทุนได้ และเมื่อราคาหุ้นขึ้นเราก็แบ่งเอาไปขายได้เงินมาใช้หนี้ ตอนนั้นเหลือเงินประมาณ 100-200 ล้านบาทจากที่ไม่มีเงิน ผมก็นึกดีใจ ความจริงไม่ใช่ มันเป็นการขยายธุรกิจ เมื่อลูกค้าเพิ่มก็ต้องเพิ่มการลงทุน เงินไม่พอก็ต้องเพิ่มทุน เราต้องไปตามเพิ่มทุนเพื่อไม่ให้สัดส่วนมันหาย ก็ทำให้เงินหมดไปอีก จากที่เคยมี 100 ล้านแรกในปี 2533 แต่พอปลายปีเงินก็หมดอีกแล้ว เพราะต้องไปเพิ่มทุน
รวยพันล้านได้อย่างไร
ในปี 2534 มีนักลงทุนต่างประเทศคนหนึ่งซึ่งไปลงทุนทำธุรกิจในหลายประเทศ พาผมไปรู้จักเศรษฐีที่มีเงินอันดับสองของโลกชื่อคาร์ลอส ซาลิม ที่นิวยอร์ค ก่อนที่ผมจะมาเป็นรมว.กระทรวงการต่างประเทศ นายคนนี้มาซื้อหุ้นบริษัทผมไป 5 เปอร์เซ็นต์ เข้าใจว่าตอนนั้นผมขายได้ประมาณ 5 พันล้าน เป็นการคุยกันทางโทรศัพท์ขณะที่ผมกำลังไปแคะหู ผมบอกขอแคะหูก่อนเดี๋ยวค่อยคุย เขาขอซื้อ 10 เปอร์เซ็นต์ผมไม่ขาย ผมขายแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เขาสนใจตามซื้อหุ้นเราในตลาดอีก ถ้าขายให้มาก เขาก็เอาไปเก็บไว้แล้วไม่สนใจมาไล่ซื้ออีก หุ้นเราก็จะราคาไม่ดี ปี 2534 จึงเป็นปีที่ผมมีเงินหลายพันล้านเป็นครั้งแรก แต่หุ้นในครอบครัวที่เคยมี 80 เปอร์เซ็นต์ก็ลดลงเรื่อยๆ เป็น 60 เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้ขายเสียจนเหลือหุ้นลดน้อยกระทั่งตัวเราเองไม่สามารถควบคุมการบริหารบริษัทได้ เราต้องเก็บหุ้นไว้ให้เกินครึ่งหนึ่ง เพื่อไม่ให้ใครมายึดบริษัทไป
ในปี 2535 - 2536 มีการขายหุ้นเพิ่ม ได้เงินสดมาเป็นหมื่นล้าน ปี 2537 จึงได้เข้ามาสู่การเมือง เงินที่ครอบครัวผมได้มาเป็นเงินที่ได้จากการขายหุ้นให้ต่างประเทศทั้งนั้น ช่วงนั้นฝรั่งมาลงทุนในบ้านเรามาก การขายหุ้นแต่ละครั้งก็ขายให้กองทุนต่างประเทศทั้งนั้น แม้กระทั่งครั้งล่าสุดที่ขายหุ้นให้เทมาเสกก็เป็นเงินที่ต่างประเทศนำเข้ามาให้ ไม่ได้เป็นการนำเอาเงินไทยมาเลย ผมเล่าให้ฟังเพื่อจะบอกว่ากว่าจะมาเป็นวันนี้ได้ มันต้องชิงไหวชิงพริบและต้องทำให้ต่างประเทศเขาเชื่อถือ จึงสามารถดึงเงินต่างประเทศมาได้ อาจเป็นเพราะว่าผมมีดวงเรื่องทำมาหากินเกี่ยวกับต่างประเทศ นี่เท่าที่ฟังจากหมอดูว่า
ขอเล่าถึงช่วงเดือนเมษายน 2535 ตอนนั้นเราต้องการเพิ่มทุนให้บริษัทและต้องการให้เป็นที่รู้จักกว้างขึ้น จึงได้เดินทางไปโฆษณาตัวเองกับนักลงทุนทั่วโลก โดยมีบริษัทเมอรีรินซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินต่างประเทศเป็นผู้สนับสนุนพาไปบอสตัน นิวยอร์ค แล้วกลับมาที่ลอนดอน คุณหญิงพจมานก็เดินทางไปด้วย พร้อมลูกๆที่ยังเด็กๆกันอยู่เลย คือหลังจากเดินทางไปหลายที่แล้วก็จะมาตกลงที่ลอนดอนว่าจะขายกันในราคาเท่าไร จำนวนกี่หุ้น ทางบริษัทเมอรีรินก็ลังเลมาก เพราะช่วงปี 2535 เป็นช่วงใกล้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เขาบอกว่าหุ้นที่ตั้งใจจะขายนี้ขอรับประกันครึ่งเดียวได้ไหม ผมบอกว่าถ้าครึ่งเดียวมันเสียชื่อ เหมือนกับว่ามันไม่น่าเชื่อถือ เอาอย่างนี้ดีกว่า จะขายหรือไม่ขายก็ไม่เป็นไร ตกลงกันให้ชัด คืนนี้คุณไปตัดสินใจแล้วกัน พรุ่งนี้ผมจะได้เดินทาง ต่อมาเขาก็บอกว่ารู้สึกวิตกกับการเมืองในประเทศไทย ผมก็บอกว่าอย่าไปวิตกเลย การเมืองของไทยนั้นเปลี่ยนบ่อยเหมือนฤดูกาล อย่าไปสนใจเรื่องการเมืองนัก เพราะมันเป็นเรื่องวูบวาบชั่วประเดี๋ยวก็หาย เขาก็ยังบอกว่าขอซื้อครึ่งเดียว ผมจึงปฏิเสธไม่ขาย บอกว่าจะพาลูกเมียไปเที่ยวสวิสเซอร์แลนด์ วันนั้นถ้าขายก็จะได้เงิน 3 พันล้าน
ร่วงก่อนรุ่งและเรื่องเศร้า
พอกลับมาถึงเมืองไทยได้ไม่กี่วัน เกิดเหตุพฤษภาทมิฬ หุ้นร่วงพรวด เมอรีรินคงดีใจว่าคิดถูกแล้วที่ไม่ได้ซื้อ แต่ผมรู้สึกเฉยๆ พอหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬจบ คุณอานันท์กลับมาเป็นนายกอีกรอบหนึ่ง หุ้นวิ่งขึ้นใหม่อีกครั้ง ถ้าขายก็จะได้ 5 พันล้าน เพราะยึดหลักว่าถ้าเขาซื้อไปครึ่งเดียวเราเสียชื่อ จึงไม่ขาย แทนที่จะได้เงิน 3 พันล้าน กลับได้ 5 พันล้าน ผมเล่าให้ฟังเพื่อบอกว่าท่านต้องยึดหลักและมีความรอบรู้ เรื่องการเมืองตอนนั้นมันวิกฤตชั่วคราว ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ที่เล่นกันแบบเอาเป็นเอาตาย และไม่มีวันจบ คนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยหนีหายหมดแล้ว นานๆอาจจะโฉบมาตีหัวเข้าบ้านบ้างเท่านั้น เพราะวันนี้เราเองกำลังไม่เข้าใจโลกอย่างแรง ตัวเราอยู่ในศตวรรษที่ 21 แต่ความคิดของเรายังเป็นแบบศตวรรษที่ 20 มีความคิดแคบ ไม่เข้าใจว่าโลกเดินไปถึงไหน ไม่เข้าใจการแข่งขัน ขณะที่ผมนั่งอยู่ที่ดูไบผมจะดูว่าจีนมีความเคลื่อนไหวอะไร อินเดีย อเมริกา ยุโรปเคลื่อนไหวอะไร และจะเป็นอย่างไร เขามียุทธศาสตร์ของเขา แต่พอหันกลับมามองอาเซียน ทั้งอาเซียนไม่มีอะไรเลย ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน แต่ลากอาเซียนให้จมลงไปเพราะมัวแต่ขัดแย้งในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่ยอมให้กลไกที่สร้างมาเป็นสิบๆปีได้จัดการปัญหาด้วยตัวของมันเอง เท่านั้นไม่พอ ยังไปบิดเบือนกลไก ไปใช้กลุ่มแก๊งบุคคลเข้าแสวงหาผลประโยชน์ของประเทศ จนป่านนี้ยังไม่คิดแก้ปัญหา นี่คือสิ่งที่น่า
เศร้าที่สุดของประเทศไทย
มาที่ดูไบบ้าง เขาเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ จึงเอาความเป็นศูนย์กลางสร้างเงิน ด้วยการสร้างสนามบินเป็นศูนย์กลางการบิน สร้างท่าเรือเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือ แล้วสร้างเศรษฐกิจล้อมรอบ ไทยเรามีภูมิศาสตร์ที่ควรจะเป็นศูนย์กลางการบิน แต่ถูกประเทศเล็กๆอย่างสิงคโปร์ฉกฉวยเอาไป เพราะไม่มียุทธศาสตร์เพื่อชาติ มีแต่ยุทธศาสตร์ฟาดฟันกันเอง เราถนัดแต่เรื่องแบบนี้ มีแต่ยุทธศาสตร์ที่จะให้คนฉกฉวยตรงนั้นทีตรงนี้ทีทำมาหากินไป นี่คือสิ่งที่เราไม่แก้และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
จะเพิ่มมูลค่าหุ้นกันอย่างไร
หันมาพูดถึงเรื่องหุ้นว่าทำอย่างไรถึงจะให้หุ้นตนเองดี การซื้อขายหุ้นมีคนไทยเพียงส่วนน้อยที่จะลงทุนในตลาดหุ้น แต่สถาบันต่างๆหรือต่างชาติมักจะลงทุนซื้อหุ้นเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นท่านจะต้องสร้างความสัมพันธ์กับนักลงทุน จะต้องเดินทางไปโฆษณาตนเองบ่อยๆทั้งในและต่างประเทศ จะต้องยินดีต้อนรับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาพูดคุยเรื่องบริษัทของท่าน ตอนผมนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ใหม่ๆ ต้องนั่งพูดเรื่องบริษัทวันละสองสามรอบ ซ้ำไปซ้ำมาเหมือนเปิดเทป และก็รู้ได้เลยว่าเขาจะถามอะไรเราบ้าง เราต้องอดทนอย่างมาก บางคนเข้ามาหลายรอบ เราก็พูดแล้วพูดอีก ไม่ว่าจะเป็นใครระดับไหน เราต้องต้อนรับหมด เมื่อเราพูดบ่อยเข้าบริษัทก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้คนสนใจมาซื้อหุ้น และให้จำไว้ว่าถ้ามันอยากได้สิบให้มันแค่ห้า ถ้าอยากได้เพิ่มให้ไปไล่ซื้อในตลาดเอาเอง เท่ากับว่ามีคนคอยรักษาระดับราคาหุ้นของเราตลอด ราคาหุ้นก็จะดีตลอดเวลา แต่ต้องคุยให้เขารู้ว่าหุ้นของเรามีอนาคต อย่าไปพูดว่าอนาคตผมไม่รู้จะไปทางไหน ต้องทำให้เขามองเห็นอนาคต
อย่าใช้เงินผิดประเภท
ผมจะเล่าให้ฟังอีกเรื่องหนึ่ง คืออย่าใช้เงินผิดประเภท มันเป็นเรื่องน่ากลัวมาก ทำไมผมถึงไม่ใช้เงินผิดประเภท เพราะผมถูกสอนมา ตอนยังไม่นำหุ้นเข้าตลาด ผมหมุนเงินได้ก็ดีใจนำเงินไปซื้อที่ดิน พอเศรษฐกิจตกอยากขายที่ ปรากฏว่าไม่มีใครซื้อเลย มีแต่คนอยากขายกันทั้งประเทศ เงินที่มีก็จมอยู่ ธุรกิจมีปัญหาอยากเอาเงินไปใส่ก็ทำไม่ได้ เลยทำให้ธุรกิจมีปัญหาไปด้วย จะเอาไปเข้าธนาคาร เขาก็ไม่ยอมรับ เพื่อนผมคนหนึ่งเขามาเตือนว่าอย่าทำ อย่าใช้เงินมั่ว คนเอเซียชอบทำแบบนี้ ตั้งแต่นั้นมาผมจำเป็นคาถาเลย แม้ว่าตอนหลังจะเริ่มมีเงินผมก็ไม่ซื้ออสังหาริมทรัพย์อีกเลย เพราะเราทำธุรกิจโทรคมนาคม อย่าเอาเงินบริษัทไปทำอสังหาริมทรัพย์ ถ้าจะทำให้เอาเงินส่วนตัวหรือครอบครัวไปลงแทน
ผมเคยพูดถึงเรื่องตึกที่โรงหนังราชวัตรรามา ตอนหลังกลายมาเป็นคอนโดมิเนียม และเป็นที่ทำงานของบริษัท ชินคอร์ป ช่วงเริ่มก่อตั้งใหม่ๆ ก่อนจะมาอยู่ตึกชินทาวน์เวอร์ถนนพหลโยธิน โครงการนี้ก็เกิดขึ้นแบบตกกระไดพลอยโจน อาจารย์ประยูร จินดาประดิษฐ์ ผู้จัดการธนาคารทหารไทยตอนนั้น นับเป็นผู้มีพระคุณของผม ท่านไปสร้างตึกที่ปากซอยสายลมซึ่งเป็นที่ตั้งชินทาวน์เวอร์ปัจจุบัน สร้างไปได้เจ็ดชั้นแล้วไม่มีเงินทำต่อก็มาขายให้ผม ผมซื้อมาปรับปรุงแก้แบบจากคอนโดมาทำเป็นสำนักงาน 30 ชั้น เป็นการนำเอาเงินของครอบครัว 700 กว่าล้านมาลงทุน ไม่ได้ใช้เงินบริษัทเลย และให้ครอบครัวเป็นเจ้าของ แต่ให้บริษัทเช่า เพื่อแยกแยะให้ชัดเจนว่าบริษัทนี้จะไม่ลงทุนเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ทำให้นักลงทุนเขาไม่ต้องสับสน และราคาเช่าก็เป็นราคาตลาด จะมากำหนดราคาถูกหรือแพงเกินไปก็ไม่ได้ ต้องกำหนดให้อยู่ในราคาตลาด แต่อาจลดราคาให้ถูกกว่าตลาดเล็กน้อยเพื่อให้รู้สึกว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่ได้เอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย ต้องแสดงความจริงใจว่าเราไม่เอาเปรียบ จึงได้สร้างตึกชินทาวน์เวอร์ 1 ขึ้นมา แต่พอมาสร้างตึกชินทาวน์เวอร์ 2 จะขายก็ไม่ได้ขาย เพราะเจ้าของคือพี่ชายรมต.กระทรวงยุติธรรมคนปัจจุบัน เขามาบอกขายให้ผมหลายรอบ ราคา 560 กว่าล้าน เลยตกลงซื้อตึกนี้ไว้ เป็นการลงทุนของครอบครัวครั้งที่สอง ตอนหลังเมื่อเห็นว่าตึกไม่พอใช้ก็มาสร้างตึกชินทาวน์เวอร์ 3 อันนี้ก็เกิดจากการช่วยซื้อที่ของคุณประพัท โพธสุธน ซึ่งมีปัญหากับทางธนาคาร เขามาบอกขายก็เลยซื้อไว้ จึงได้สร้างตึกชินทาวน์เวอร์ 3 เป็นเรื่องที่ครอบครัวลงทุนเองทั้งหมด จากนั้นก็ปล่อยให้คนมาเช่า เป็นบริษัทในเครือก็มี ก่อนจะมาเป็นเอสซีแอสเซส แล้วนำมาเข้าตลาดหลักทรัพย์
มันเป็นเรื่องของการค่อยๆสร้างทีละส่วนขึ้นมา ที่ต้องแยกแยะให้ออก อย่านำไปเกี่ยวพันอย่ามั่ว ช่วงที่ชินคอร์ป แข็งแรงก็นำเข้าตลาดไป ต่อมาผมก็นำเอไอเอสเข้าตลาดเช่นกัน ไอบีซีโตขึ้นก็นำเข้าตลาด ชินแซทโตขึ้นก็นำเข้าตลาด ทุกตัวเราแยกนำเข้าตลาดหลักทรัพย์หมด เพราะทันทีที่เราต้องการเงินลงทุนจำนวนมาก จะได้ไม่ต้องควักเงินส่วนตัวลงมากเกินไป ถ้าเราไม่ควัก เปอร์เซ็นต์ของหุ้นก็จะลดน้อยลงไป แต่ถ้าเราเติมลงไป เงินสดที่มีอยู่ก็จะหมด ผมจึงต้องเอาบริษัทที่มีศักยภาพการเติบโตไปเข้าตลาด เวลาเพิ่มทุนเราอาจเพิ่มทุนแบบไอพีโอ คือขายให้คนทั่วไป เพื่อให้ได้เงินเข้าบริษัทแล้วนำเอาเงินนั้นไปลงทุน หุ้นในบริษัทก็จะโตขึ้น ท่านทั้งหลาย เราต้องรู้เท่าทันระบบทุนนิยม วันนี้แม้เราจะเกลียดมันไม่ชอบมันก็ไม่ได้ เพราะเราต้องอยู่กับมัน โลกทุกวันนี้เป็นระบบทุนนิยม ไม่จำเป็นว่าเราต้องชอบหรือไม่ชอบ แต่วันนี้มันเป็นการแข่งขันด้วยทุนที่เรียกทุนนิยม คือต้องมีทุน ถ้าไม่มีทุนเขาไม่นิยม เป็นลัทธินิยมทุน นั่นก็คือถ้าทุนไม่มีก็ต้องไปวิ่งหาจนมี ทำอย่างไรจะเสกกระดาษให้เป็นเงินก็ต้องทำให้ได้
ถึงเวลากำจัดจุดอ่อนหรือยัง
วันนี้ถ้าเราทำนาส่งข้าวออกได้ที่หนึ่งของโลก เรามีสิทธิ์จะภูมิใจ แต่ถ้ามองอีกแง่เราอาจต้องถามว่าทำไมเราต้องให้คนจนทำนาไปตลอดชีวิต ลดจำนวนชาวนาลงบ้างได้ไหม ให้เหลือชาวนาน้อยหน่อย แต่เป็นชาวนาที่มีเครื่องจักรกล ลูกหลานชาวนาไปเป็นวิศวกรบ้างได้ไหม เป็นหมอเป็นทนายความเป็นเถ้าแก่บ้างได้ไหม ทำไมต้องบอกว่าปู่เอ็งเป็นชาวนา พ่อ ลูก หลานก็ต้องเป็นชาวนา เรามีทางเลือกอื่นไหม มันมีทางเลือกอื่นอย่างที่ผมเล่าให้ฟัง อย่างที่ดูไบเขาเอาคนต่างชาติมาเป็นลูกน้องคนในท้องถิ่น แต่เราเอาต่างชาติมาเป็นนาย แล้วเรามาเป็นลูกน้องเขา อุตส่าห์ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ แต่พอกลับมากลับส่งไปเป็นลูกจ้างฝรั่งแล้วมานั่งภูมิใจได้ทำงานดี ทำไมไม่ส่งเสริมให้เป็นเถ้าแก่ ที่ดูไบคนของเขาเป็นเถ้าแก่ จ้างซีอีโอต่างชาติเก่งๆมานั่งบริหาร เพราะระบบการเงินของเขามันเอื้อให้คนท้องถิ่นมีทุนสร้างธุรกิจ แต่ธนาคารของเรามักทำอะไรแบบฮั้วกันสมยอมกันและเป็นนายของคนไทย แทนที่จะคอยสนับสนุนให้คนไทยแข็งแรง นี่คือจุดอ่อนที่แสดงว่าเรากำลังมองโลกในศตวรรษที่ 21 ไม่ทัน ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ คนที่มีอำนาจแฝงสั่งการทำให้ระบบเพี้ยนได้ ยังมีความคิดอยู่ในศตวรรษที่ 20 มันถึงได้ยุ่งมาถึงทุกวันนี้
เซีย ไทยรัฐ : ย้ำชัดจุดยืนต้านรัฐประหาร
ThaiFreedom : มีความคิดเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ส่งผลทำให้งานเขียนการ์ตูนซึ่งควรจะเป็นช่วงของการเบรกอารมณ์ในสื่อต้องถูกมองอย่างแบ่งฝ่ายไปด้วย คุณเซียเองก็ถูกวิพากษ์ว่าเป็นการ์ตูนนิสต์เสื้อแดง
เซียไทยรัฐ : ความจริงการ์ตูนเป็นสื่อมวลชนแขนงหนึ่ง ที่แสดงความคิดเห็นจุดยืนและข้อเสนอแนะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในรูปแบบลายเส้น แทนตัวหนังสือ ในฐานะประชาชนพลเมืองอาชีพหนึ่งที่ไม่ได้วิเศษกว่าคนอื่นๆ เมื่อมีเหตุการณ์บ้านเมืองเข้ามากระทบในจุดไหน เรามีความคิดเห็นอย่างไรก็จะประกาศจุดยืนของเราออกไป และก็เป็นความเห็นของฝ่ายที่รักประชาธิปไตย ที่ได้ทำงานตามแนวทางนี้มานานหลายสิบปี
ประชาธิปไตยที่ว่านั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยเพียงแต่ในทฤษฎีหรือที่นำมากล่าวอ้างอย่างบิดเบือน คือเป็นกติกาแบบชาวบ้านที่ว่าทุกคนยอมรับกติกาของบ้านเมืองเคารพสิทธิของกันและกัน ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ตั้งมั่นในคุณธรรมจริยธรรม อยู่ในกติกาของสังคม ซึ่งทำให้สังคมสงบสุข เราเติบโตมากับสังคมที่มีความแตกต่างกัน มีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่ไม่ใช่แตกแยก หรือแม้จะแตกแยกอย่างไรเราต้องมีการเจรจาเพื่อให้ประนีประนอมเกิดความสงบสุข ใครที่มุ่งสร้างความแตกแยกกระทั่งมองหน้ากันไม่ติดก็ไม่ต่างจากผู้ร้ายในสังคม ไม่ต่างกับโจรที่รบราฆ่าฟันตีชิงวิ่งราวทุบหัวแย่งข้าวของลักทรัพย์ผู้อื่น ซึ่งผิดกติกาของบ้านเมือง ใครก็ตามที่สร้างวิฤกตในบ้านเมืองจนไม่สามารถรอมชอมกันได้ ทำร้ายจิตใจ ทำลายกติกา ทำให้ผู้คนในบ้านเมืองไม่สามารถจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขเช่นอดีตที่ผ่านมา ผมต่อต้านทั้งนั้น ที่ผ่านมาเราก็คงทราบกันดีว่าคนกลุ่มนี้เป็นใคร ซึ่งบางทีเราแตะต้องเขาไม่ได้
แต่ถึงอย่างไร นักเขียนการ์ตูนหรือสื่อมวลชนก็ได้เปรียบตรงที่เรามีเวทีที่จะนำเสนอ อย่างพี่ๆที่เป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ก็สามารถนำเสนอผ่านตัวหนังสือ สื่อมวลชนที่เป็นทีวีวิทยุก็นำเสนอผ่านช่องทางของเขา ผมเป็นนักเขียนการ์ตูนก็นำเสนอผ่านการ์ตูนของผม ถือว่าได้เปรียบประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกกระทำและไม่มีเวทีที่ไหนนอกจากการไปร่วมชุมนุม เพื่อประกาศจุดยืนของตนเอง ไม่ว่าเสื้อเหลืองเสื้อแดง ใครผิดใครถูกก็ไม่รู้ ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตนเองถูก และแนวคิดของเราอาจไปสอดคล้องกับแนวคิดของพวกเขา ก็เลยถูกเข้าใจว่าเป็นการ์ตูนนิสต์เสื้อแดง
เคยได้ยินคนอ่านเขาพูดว่าการ์ตูนเหมือนหยดน้ำหรือหยาดฝนในทะเลทราย ที่ช่วยปลอบประโลมให้ชุ่มชื่นหัวใจ ในสถานการณ์ที่ถูกสื่อมวลชนกระทำย่ำยีฝ่ายเดียว แม้จะช่วยได้เพียงเล็กน้อยแต่ก็ดีใจ ถามว่าผมจะต้องอยู่ข้างเขาเป็นพวกเขา และเข้าร่วมเคลื่อนไหวในการชุมนุมทุกที่กับพวกเขาอย่างนั้นไหม ก็คงไม่ใช่ ผมไม่มีเวลามากขนาดนั้น แต่อาจจะเป็นการมีส่วนร่วมกันในทางความคิด เป็นการส่งความคิดและกำลังใจผ่านการ์ตูนไปเท่านั้น ผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมได้จะต้องมีแนวคิดมั่นคงและเสียสละอย่างมาก ซึ่งพวกเราเทียบเขาไม่ได้เลย เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะมีหน้าที่สื่อมวลชนตรงนี้อยู่ แต่ถ้าใครจะบอกว่าผมเป็นคนเสื้อแดง ก็ถือเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่มีพลังและเห็นประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญ เป็นกลุ่มคนที่เสียสละเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น
ThaiFreedom : รู้สึกหวาดกลัวหรือไม่ กับการนำเสนอในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับฝ่ายกุมอำนาจรัฐ ตั้งแต่ในช่วงที่มีการทำรัฐประหารที่ผ่านมา
เซียไทยรัฐ : รู้สึกหวั่นๆเหมือนกัน แต่เท่าที่ผ่านมาฝ่ายตรงข้ามก็เล่นเกมกับเราเล็กน้อย เช่น ฟ้องร้องเรื่องจริยธรรมของสื่อ ด่าว่าปล่อยข่าวทำลายกันทางทีวี โพสต์ข้อความเสียๆหายๆตามเวบไซต์ มีการเล่นสงครามประสาทบ้าง เช่น โทรมาก่อกวนตอนตีสาม เป็นต้น ปล่อยข่าวว่าไปรับเงินรับทองที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เป็นวิธีการจ้องทำลายความน่าเชื่อถือ ซึ่งผมก็ไม่ได้หวั่นไหวอะไร ผมอยู่ตรงนี้มา 30 ปีแล้ว เข้าใจดีว่าการเมืองบ้านเราเป็นอย่างนี้ เมื่อเราแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับเขาก็มีการข่มขู่บ้าง แต่ยังไม่ถึงขนาดใช้กำลัง เพราะการ์ตูนของผมอาจจะไม่แรงมาก ต่างกับยุคของอาจารย์ประยูร จรรยาวงศ์ ที่เขียนการ์ตูนแรงมาก ผู้มีอำนาจยุคโน้นก็ใช้อำนาจมากกว่ายุคนี้ แต่ปัจจุบันผู้มีอำนาจเขาก็ไม่ได้เบามือลง เพียงแต่เขาเกรงกลัวกระแสสื่อมวลชน เพราะสิ่งที่เขาทำไม่ได้ถูกจำกัดการรับรู้แคบๆเฉพาะในเมืองไทย แต่ได้ถูกกระจายไปได้กว้างไกลรวดเร็วทั่วโลกโดยเทคโนโลยีสารสนเทศ เขาจึงระมัดระวังและมีพฤติกรรมลับลวงพรางมากขึ้น เขายังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือนิสัยยังไม่เปลี่ยนและเป็นผู้มีอำนาจกลุ่มเดิม ถ้าเป็นยุคอดีตผมอาจถูกเล่นงานไปแล้ว เหมือนอาจารย์ประยูร ที่ถูกสั่งปิดการพิมพ์หนังสือเป็น 10 ปี นักการเมืองก็ถูกฆ่า
ThaiFreedom : มีผู้ให้ความเห็นว่าลายเส้นการ์ตูนของเซียช่วงหลังมีความแหลมคมชี้นำถึงขนาดว่าควรจะต่อสู้อย่างแตกหักกับฝ่ายกุมอำนาจปัจจุบัน
เซียไทยรัฐ : อาจจะเป็นไปตามอารมณ์ในบางช่วง ความจริงข้อมูลการเขียนส่วนใหญ่ผมไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่ได้มาจากการอ่านหนังสือ ดูทีวี อินเตอร์เน็ต แล้วประมวลเข้ามา บางมุขผมนำมาจากข้อคิดเห็นที่มีคนโพสต์กันไปโพสต์กันมาในเวบ ยังนึกไม่ออกว่าภาพไหนได้ชี้นำทำนองนั้น แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นการนำเสนอไปตามอารมณ์ตามกระแสในขณะนั้น เพราะเราได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองทั้งวัน ทำให้มีอารมณ์ร่วมว่าทำไมบ้านเมืองมันถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมพูดอย่างนี้ทำอย่างนี้ แม้แต่พวกสื่อด้วยกันเมื่อเกิดความผิดพลาด ก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์กัน ฉะนั้นการเขียนการ์ตูนมันไม่ใช่แค่เขียนภาพธรรมดา มันเหมือนเรากำลังอยู่ในสมรภูมิการต่อสู้ บางครั้งจึงมีอารมณ์ร่วมทำให้หลุดออกไปอย่างนั้น ความจริงไม่ต้องการแตกหัก ผมอยากเห็นการประนีประนอมพูดคุยกัน เพื่อแก้ปัญหากันให้ได้ แต่ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าทิศทางข่าวเป็นไปในทำนองกระทำย่ำยีฝ่ายเดียว เราจึงอยากเปิดมุมมองอีกด้าน อย่างน้อยก็เพื่อให้ฝ่ายถูกกระทำได้มีที่ยืนมีที่พิงบ้าง
ThaiFreedom : แม้แต่เรื่องอำมาตย์หรือมหาอำมาตย์ที่กำลังพูดถึง บางคนอาจไม่เข้าใจ แต่ภาพการ์ตูนของเซียได้สื่อเข้าไปแบบทะลุทะลวงจนคนเข้าใจว่าคือใคร กำลังทำอะไรอยู่ ไม่ทราบว่ามีอะไรเป็นตัวจุดประกายให้สามารถถ่ายทอดตรงนี้ออกมาได้
เซียไทยรัฐ : คงเป็นเพราะประสบการณ์ ความจริงคำว่า อำมาตยาธิปไตย ผมเคยได้ยินมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเขียนออกมาได้ อีกอย่างหนึ่ง ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หากมีบางถ้อยคำที่ล่อแหลม ถึงจะได้ยินได้ฟังใครอธิบายมาทั้งข่าวซุบซิบข่าวลึกข่าวลับอย่างไร ถ้าในไทยรัฐยังไม่มีการนำเสนอ ผมก็ยังเขียนออกมาไม่ได้ มันเป็นจุดยืนของการทำสื่ออย่างหนึ่งที่ต้องอยู่ภายใต้อาณัติของบรรณาธิการ ซึ่งจะต้องดูทิศทางของข่าวว่าได้มีการชี้ชัดหรือยัง หากมีการชี้ชัดโดยเฉพาะในหน้าข่าวการเมืองเราก็สามารถเขียนได้ และการ์ตูนก็ได้เปรียบตรงที่มันเป็นภาพที่เห็นชัดเจน ไม่เหมือนการบรรยายเป็นตัวหนังสือที่อาจตีความเบี่ยงเบนคาดเดากันไปได้ ครั้งหนึ่งเคยมีคนเสื้อเหลืองต่อว่าผมว่าวิจารณ์พวกเขาว่าเขาอยู่ได้ และเผยแพร่อยู่ได้นาน ไม่เหมือนการพูดออกวิทยุทีวี ที่พูดแล้วก็หายไปในอากาศ ภาพการ์ตูนได้เปรียบตรงที่อยู่ได้นาน สามารถนำไปโพสต์ไว้ตามเน็ตกระจายไปทั่ว ช่วยตอกย้ำให้คนได้รู้ได้เห็นซ้ำๆเป็นเวลานาน
ThaiFreedom : ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ถือว่าได้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจน หากย้อนไปเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน คิดว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
เซียไทยรัฐ : จุดยืนของผมชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มเขียนการ์ตูน ตอนเขียนใหม่ๆไฟยังแรงก็ยิ่งสนุก ตอนนั้นเขียนให้อาทิตย์รายวัน ต่อต้านเผด็จการชัดเจน อยู่ข้างเกษตรกร ข้างแรงงาน อยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตยมาโดยตลอด ถือว่าได้ประกาศจุดยืนชัดเจน เพียงแต่ยุคแรกอาจเป็นสื่อที่มีตลาดคนอ่านแคบ คนอาจจะรับรู้ได้ไม่กว้าง ก็ทำให้ไม่เป็นที่รู้จัก เดินไปไหนไม่มีใครพูดถึง แต่เราก็ภาคภูมิใจในผลงานของเรา รู้กันอยู่ในหมู่พี่ๆน้องๆที่ทำสื่อด้วยกัน แต่พอได้มาทำในสื่อที่โตขึ้นอย่างบ้านเมือง สยามรัฐ เป็นต้น ก็มีคนรู้จักเพิ่มขึ้น กระทั่งสุดท้ายมาอยู่ไทยรัฐวันนี้ จุดยืนก็ยังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน โชคดีตรงที่ได้มาอยู่บนเวทีที่ใหญ่มีคนอ่านมาก ผลงานจึงกระทบคนส่วนใหญ่ แต่ก็ทำให้ผมระมัดระวังในการเขียนมากขึ้น ไม่เหมือนตอนอยู่สำนักพิมพ์เล็ก ที่เมื่อกระทบใครบ้างก็เป็นจุดเล็กๆไม่ถูกฟ้องร้องมากมาย ไม่เหมือนตอนนี้แม้จะกระทบกระทั่งเล็กๆก็มีผล จึงต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น ต้องแสวงหากลวิธีในการเขียนมากขึ้น
แต่ช่วงนี้อาจจะเขียนแรง ความจริงผมเขียนแรงตั้งแต่ช่วงคมช.ยึดอำนาจ เหมือนกำลังต่อต้านตรงๆในภาคสนาม กระทั่งตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดหุ่นชัก ผมรู้สึกว่าได้ใช้ความสามารถประกาศจุดยืนเต็มที่ แต่แน่นอนว่าถึงเราจะรู้สึกว่าต่อสู้เต็มที่ การ์ตูนก็คือการ์ตูน ที่ทำให้คนอ่านได้สนุกเฮฮาได้แนวคิด แต่ไม่มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมมากนัก เพราะสังคมนี้เป็นสังคมของคนมีพลังอำนาจ สื่อสารมวลชนอย่างพวกเราคงได้แต่พูด แต่ก็ถือว่าได้เป็นปากเสียงให้ประชาชนคนส่วนใหญ่แล้ว
ThaiFreedom : ในอดีตภาพการ์ตูนเพียงหนึ่งภาพของอาจารย์ประยูร มีพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ปัจจุบันภาพการ์ตูนไทยของเรามีคุณภาพพอที่จะสามารถสร้างผลสะเทือนอย่างนั้นได้หรือไม่
เซียไทยรัฐ : คงจะประเมินได้ยาก เพราะยุคนี้มีความแตกต่างจากยุคของท่านอาจารย์ประยูรตรงที่มันมีสภาพที่เรียกว่าลับลวงพรางมาก สื่อมวลชนก็มีไม่กี่ฉบับรวมตัวกันได้ เวลาจุดประเด็นออกมามันก็ชัด ในยุคนี้สื่อมีหลายค่ายแบ่งเป็นฝักฝ่ายจึงไม่มีพลัง เราถูกทำให้แตกแยกมาตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เช่นเดียวกับพลังมวลชนต่างๆก็รวมกันไม่ติด ผมว่าช่วง 14 ตุลาคม มันเป็นเกมที่เขาคาดไม่ถึง แต่ขณะนี้มันไม่ใช่ ฝ่ายกุมอำนาจเขาเข้าใจดี และเป็นฝ่ายกำหนดเกมเล่นเองแล้ว สื่อเองก็ถูกเล่นงานอยู่ แต่เราก็ทำของเราเต็มที่ ในเมื่อสภาพสังคมยังเป็นอย่างนี้ ยังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สังคมยังคงลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเย้ายวน หรือต้องวุ่นวายอยู่กับการทำมาหากิน ภายใต้เงื่อนไขอย่างนี้เราคงทำอะไรได้ไม่มาก แต่ก็พยายามทำงานของเราไป
ThaiFreedom : ไม่ทราบว่าอารมณ์ของการ์ตูนนิสต์ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปไหม เมื่อก่อนเซียเคยเขียนภาพอาจารย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ออกมาดูน่ารัก แต่ในปัจจุบันรู้สึกว่าลายเส้นมันแสดงถึงการทิ่มแทงเข้าไปลึกถึงการเปลี่ยนแปลงแบบขุดรากถอนโคน
เซียไทยรัฐ : รัฐบาลในอดีตที่เข้ามาตามระบบการเลือกตั้ง มีปัญหาเรื่องการซื้อเสียงบ้าง ก็เป็นที่ทราบกันดี แต่ก็มาตามระบบ คุณบรรหา ศิลปอาชา แม้จะไม่ได้รับการชื่นชมอย่างไร ผมก็ไม่เคยเขียนในทำนองให้เสียหาย ก็เพียงแต่ล้อเล่นกันไปแบบสนุกสนาน และเมื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลก็เป็นไปตามวิธีการปกติ แล้วก็แล้วกันไป ผมไปเคยตามไปเขียนต่อว่า มันเป็นการเมืองปกติธรรมดา ไม่มีการทำร้ายกัน แต่ยุคนี้มันไม่ธรรมดา มันมีการวางแผนทำร้ายกันล่วงหน้ามาหลายปีเพื่อจะเข้ามาสู่ตำแหน่ง และไม่จบง่ายๆ มีการวางแผนทำร้ายถึงขั้นเอาชีวิต ผมเชื่อว่ามีการวางแผนสังหารแน่นอน โดยคนที่เข้ามาสู่ตำแหน่งเสวยสุขก็ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดเกมนั้นด้วย ฉะนั้นจึงเรียกได้ว่าเข้ามาสู่ตำแหน่งอย่างไม่ธรรมดา เขายอมทำทุกอย่างแม้แต่การทำลายชีวิตนักการเมืองด้วยกัน ขอเพียงให้ได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น จะต้องฆ่าใครก็ไม่เป็นไร ต่างจากสมัยก่อน ดังนั้นอารมณ์ในการเขียนการ์ตูนของเราก็เลยเปลี่ยนไป เพราะเข้าไปมีอารมณ์ร่วมกับสถานการณ์ตรงนั้นเหมือนร่วมอยู่ในสมรภูมิด้วย เหมือนคนเสื้อเหลืองเสื้อแดงทั่วไป เพราะกระแสข่าวมันเป็นอย่างนั้น ใครถือหางข้างไหนก็อยากจะปกป้องช่วยเหลือข้างนั้น เพราะมันมีความอำมหิตเหลือเกิน สังคมขณะนี้มันไปถึงขั้นว่ามีคนพร้อมจะโดดลงไปร่วมหัวจมท้ายกับฝ่ายที่ตนเห็นด้วย แม้จะรุนแรงก็พร้อมร่วมด้วย
ThaiFreedom : ในอดีตแม้จะมีความโกรธเกลียดกันอย่างไร แต่ภาพการ์ตูนที่ออกมาก็ยังดูน่ารัก แต่การ์ตูนนิสต์บางคนในปัจจุบันเขียนภาพออกมาแบบหยาบโลน เซียมีความรู้สึกต่อกรณีนี้อย่างไร
เซียไทยรัฐ : ผมคงไม่กล้าก้าวล่วงวิจารณ์ผลงานใคร แต่ตามหลักการการ์ตูนควรเป็นการ์ตูน เป็นงานที่แฝงไว้ด้วยความขบขัน คนดูแล้วหัวเราะออกมาได้และให้แง่คิด ถึงแม้จะเขียนรุนแรงอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ดูแล้วเกิดความสยดสยองขยะแขยงออกอาการแหวะรับไม่ได้ หรือมีลักษณะเป็นงานโฆษณาชวนเชื่อ มีคนวิจารณ์การ์ตูนผมอย่างนี้เหมือนกัน อาจจะดูชี้นำไปในทางรุนแรง ก็อย่างที่บอกว่ามันอาจเป็นเพราะอารมณ์พาไป แต่ก็พยายามทบทวนงานของตนเองตลอดว่าได้วาดอะไรลงไปในแต่ละวัน สำหรับงานของคนอื่นเราคงวิเคราะห์เจตนาเขาไม่ออกว่าเป็นเพราะอารมณ์พาไป หรือเพราะเขาเป็นอย่างนั้นคิดอย่างนั้นจริงๆ นักเขียนการ์ตูนไม่มีองค์กรเข้ามาตรวจสอบ ก็แล้วแต่ว่าประชาชนจะชื่นชอบคนไหนค่ายไหนก็เลือกกันไป
ThaiFreedom: ในวงการการ์ตูนนิสต์บ้านเรามีการพบปะพูดคุยกันถึงแนวทางการทำงานบ้างหรือไม่ เพื่อให้มีทิศทางเดียวกัน ในสภาพบ้านเมืองที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างนี้
เซียไทยรัฐ : ขณะนี้เรามีการรวมตัวกันเป็นสมาคมการ์ตูนไทย แต่ก็เป็นนักเขียนการ์ตูนที่หลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะการ์ตูนแนวการเมืองเท่านั้น เมื่อเร็วๆนี้ก็มีการพบปะกินเลี้ยงกัน มีสมาชิกสมาคมที่เป็นทั้งเด็กผู้ใหญ่ตามประเภทการ์ตูนที่เขียนกัน เราพูดคุยกันในเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับการพัฒนาการเขียน การตลาด การทำธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของเนื้องานจริงๆ ส่วนแนวคิดในการทำงานเราจะไม่พูดถึง เพราะแต่ละคนมีแนวคิดของตนเอง ส่วนการ์ตูนนิสต์แนวการเมืองก็ได้พบปะกันบ้างอย่างประปราย แต่ก็ไม่ได้พูดคุยเรื่องการเมืองอย่างที่จะกำหนดแนวทางร่วมกันได้ เพราะแนวคิดทางการเมืองเป็นเรื่องพูดกันลำบาก แม้แต่สามีภรรยายังมีความเห็นแตกต่าง ทำให้คุยกันยาก
ThaiFreedom : มีความคิดเห็นอย่างไร ต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่มีผู้สนใจเขียนการ์ตูนแนวการเมืองกันมากขึ้น
เซียไทยรัฐ : คิดว่าเป็นเรื่องดี แสดงว่ามีผู้คนกำลังแสวงหาช่องทางแสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันก็เป็นการแสวงหาช่องทางสร้างอาชีพด้วย ถ้าสื่อมวลชนจะช่วยเปิดพื้นที่ตรงนี้เพิ่มขึ้นก็จะเป็นเรื่องดี แต่ก็จะมีข้อจำกัดเรื่องหน้ากระดาษและค่าใช้จ่าย จะสังเกตเห็นว่าพื้นที่การ์ตูนในหนังสือพิมพ์หรือวารสารต่างๆนั้น มีกำจัดมาก ถึงจะมีพื้นที่ให้แต่ค่าตอบแทนก็ไม่สูง อย่างผมเองก็ต้องทำงานอื่นควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่เขียนแต่การ์ตูนอย่างเดียว แต่ว่านักเขียนการ์ตูนบางคนเขาเขียนด้วยใจรัก ขอให้ได้ลงตีพิมพ์ก็ดีใจแล้ว เหมือนผมตอนเขียนใหม่ๆ แต่พอเขียนเป็นอาชีพนานไปได้ค่าตอบแทนบ้าง เราก็พออยู่ได้ ขณะเดียวกันก็หางานอื่นทำควบคู่ไปด้วย ผมเองอยากส่งเสริมนักเขียนรุ่นใหม่ เวลาไปที่ไหนก้พยายามบอกให้เปิดเวทีให้มาก แต่ในเมื่อหน้ากระดาษและเงินลงทุนมันจำกัดก็เลยทำไม่ได้ ผมก็ไม่สามารถจะสนับสนุนพวกเขาได้ นักเขียนการ์ตูนบ้านเราจึงอาภัพตรงนี้ สิ่งที่ผมสนับสนุนได้ตอนนี้ก็คือการไปจัดเข้าค่ายอบรมการเขียนการ์ตูนตามโรงเรียน แล้วเชิญพี่ๆน้องๆนักเขียนการ์ตูนไปเป็นวิทยากร เป็นการทำกิจกรรมเชิงสังคมไปด้วย ตัวผมเองก็ไปสอนการเขียนการ์ตูนเป็นประจำ ไปร่วมเป็นกรรมการให้แนวคิดในการตัดสินหนังสือการ์ตูนที่ส่งเข้าประกวด ก็ได้ทำมาอย่างนี้ตลอด
ThaiFreedom : การเขียนการ์ตูนอยู่ในสถาบันใหญ่อย่างไทยรัฐที่มีความหลากหลายทางความคิด มีแรงกดดันมีคำสั่งไม่ให้เขียนอย่างนั้นอย่างนี้บ้างหรือไม่
เซียไทยรัฐ :ก็มีบ้าง แต่อยู่ในลักษณะที่ยอมรับได้ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐใจกว้าง แต่ตัวเราเองก็ต้องรู้ว่าอะไรแตะต้องได้หรือไม่ได้ เหมือนเป็นการช่วยกันคัดกรองไม่ให้เกิดผลเสียในวงกว้าง คือไม่ให้ไปกระทบสิทธิเสรีภาพผู้อื่น แม้แต่การวิจารณ์นักการเมืองก็จะทำในหน้าที่การงานภาพรวมของเขา จะไม่ลุกล้ำสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ในเรื่องส่วนตัวหรือครอบครัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องสาธารณะ อันนี้ก็จะต้องงดเว้นไม่วิพากษ์วิจารณ์ เราจะต้องมีวิธีที่จะพลิกแพลงงานเขียนให้สามารถนำเสนอได้โดยไม่ตกเป็นเหยื่อการฟ้องร้อง
ThaiFreedom : ที่ผ่านมาได้ถูกฟ้องร้องกี่คดีแล้ว
เซียไทยรัฐ : ไม่ถึงขนาดเป็นคดี เพียงแต่ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบเรื่องจริยธรรมของสื่อ ซึ่งดำเนินการโดยพรรคประชาธิปัตย์ เขาร้องเรียนให้สอบสวนว่าผมวิพากษ์วิจารณ์เขาอย่างมีอคติ โฆษกทั้งสามคนของรัฐบาลดาหน้าออกมาโจมตีผ่านเอเอสทีวีทุกวัน แต่เขาจะไม่ฟ้องร้องเอง จะให้ชาวบ้านเป็นผู้ร้องเรียน แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก มันเป็นเรื่องจริยธรรมเท่านั้นเอง ผมก็พร้อมที่จะไปให้ปากคำ
ThaiFreedom : มีความรู้สึกอย่างไรกับนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เซียไทยรัฐ : ก็น่ายินดีที่คนอายุรุ่นนี้ได้ขึ้นเป็นนายก แต่การที่ผมวิพากษ์วิจารณ์ก็ทำบนพื้ฐานของการที่ท่านเป็นนายก ไม่ใช่เป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เวลาไปร่วมงานสมัชชาประชาชนได้พบท่านก็ไหว้ทักทายตามปกติ หลังจากนั้นสองปีพบท่านอีกครั้งก็ยังจำผมได้ ล่าสุดไปพบท่านที่งานสัมมนาสื่อมวลชน ท่านก็ยังพูดว่ามีคอมลัมน์หน้าสามด่าท่านทุกวัน แต่ไม่ว่าอะไรหรอก จะนำไปปรับปรุงการทำงาน ผมคาดเดาว่าก็คงพูดถึงผมนี่แหละ ไม่ใช่ใครที่ไหน สมัยท่านชวน หลีกภัย เป็นนายกผมก็เขียนอย่างนี้ แต่พอท่านพ้นตำแหน่งไปแล้วผมก็ไม่ได้พูดถึงอีกเลย ถือว่ามันจบไปแล้ว คุณชวลิตก็เหมือนกัน แล้วก็แล้วกันไป
ThaiFreedom : รู้สึกอย่างไรในช่วงที่เขียนถึงกลุ่มพันธมิตรฯที่มีสื่อบางคนเป็นแกนนำร่วมอยู่ในนั้น มันเหมือนเป็นการกระชากหน้ากากเขาออกมา ซึ่งตรงกันข้ามกับคำกล่าวเชิงคาดหวังที่ว่าแมลงวันไม่ควรตอมแมลงวันด้วยกัน
เซียไทยรัฐ : ผมว่ามันเป็นสิ่งที่สื่อน่าจะได้ทบทวนคำกล่าวนี้ ซึ่งพูดกันมานานแล้วว่าสื่อไม่ควรแตะต้องสื่อด้วยกัน สำหรับในกรณีนี้ แรกเริ่มเดิมทีผมก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก เจ้านายผมเองก็บอกว่าไม่อยากให้ยุ่งเกี่ยววิพากษ์วิจารณ์ในฐานะที่เป็นสื่อด้วยกัน ความจริงก็เป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงศิษย์เก่ากันทั้งนั้น ตอนที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ทำหนังสือไทยเดย์ก็เคยให้คนโทรมาบอกให้ผมไปช่วยเขียนการ์ตูน กำลังจะเจรจากัน พอดีมีเรื่องการเมืองยุ่งๆเข้ามาก็เลยยกเลิกไป ตอนหลังมีเรื่องว่าสื่อไปรับเงินมาเขียนเข้าข้างฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ ผมเห็นว่ามันไม่ถูกก็เลยเขียนถึง ถ้าปล่อยไว้อย่างนั้นไม่พูดถึงเลย มันก็เน่ากันไปหมด ทั้งที่เราก็รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะนั่งอยู่โต๊ะข่าวเดียวกัน ทำไมจะไม่รู้ ทำไมเราวิจารณ์นักการเมืองคนนั้นคนนี้ว่าโกงชาติโกงแผ่นดิน แต่ตัวเราเองทำถูกต้องหรือเปล่า พากันไปงานเลี้ยงไม่ต่างจากอีแร้ง ไปรับของเขามา ถ้าเขาต้อนรับไม่ดีเลี้ยงไม่ดีก็ว่าเขา อยากได้ของฟรีก็โทรไปไถเขา บอกจะจัดงานอย่างโน้นอย่างนี้ขอเบียร์เขา ผมอยู่ตรงนี้มานาน รู้เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้จริงๆ ตอนเขียนด่าเขาคุณพาดหัวหน้าหนึ่ง แต่ตอนขอโทษคุณลงให้เขานิดเดียว นี่แหละที่เขาเรียกว่าเป็นฐานันดร 4 เพราะสิ่งที่ทำมามันผิด แต่ไม่มีใครกล้าพูด สมาพันธ์ฯมีไว้เพื่ออะไร หรือว่ามีไว้เพื่อฟอกขาว
ThaiFreedom : เขียนการ์ตูนมา 3 ทศวรรษแล้ว รู้สึกว่ายุคไหนเขียนได้ปลอดโปร่งโล่งใจที่สุด ยุคไหนอึดอัดใจที่สุด
เซียไทยรัฐ : ผมรู้สึกว่าเขียนสนุกมาตลอด แต่ในยุคแรกที่เขียนให้กับอาทิตย์รายวันและรายสัปดาห์ ที่ต้องรบกับป๋าตลอดนั้น ถือว่าเป็นงานที่สนุกท้าทาย และเป็นช่วงของการแสวงหาตนเองไปด้วย ได้เห็นพัฒนาการของการเมืองในยุคป๋าเรื่อยมา พอมาเขียนเรื่องอำมาตย์ก็มีคนแปลกใจว่าเขียนได้อย่างไร ผมก็บอกว่าได้รู้เห็นเรื่องพวกนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งรู้หรือเพิ่งเขียน รู้หมดว่าท่านขึ้นสู่ตำแหน่งผบ.ทบ.อย่างไร เล่นงานพลเอกเกรียงศักดิ์อย่างไร ป๋าเกี่ยวข้องกับเรื่องเมษาฮาวายอย่างไร เราติดตามอ่านข่าวก็เห็นมาตลอด จึงรับรู้ว่ามหาอำมาตย์ใหญ่ไม่ใช่เทวดา แต่นักข่าวรุ่นใหม่อาจรับรู้ไปอีกแบบ
ท่านเป็นผู้นำคนแรกที่สร้างกติกาบ้าๆบอๆขึ้นมา ไปไหนต้องมีคนคอยยืนชูป้ายต้อนรับ ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยพบเคยเห็น ในยุคนั้นมีนักการเมืองรับเงินจ่ายเงินกันหน้าห้องน้ำเพื่องดเว้นการไม่อภิปรายรัฐบาล ไม่ยอมเล่นกันตรงๆอภิปรายกันตรงๆตามกติกา เพราะความที่ตนเองหนังบางไม่ใช่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่สู้กันในสภา แพ้ชนะก็ว่ากันไปตามกติกา ใช้เงินไม่พอยังใช้ทหารมาตบเท้าอีก เป็นการเริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมแย่ๆมาตั้งแต่นั้น ผมว่าการที่ทักษิณถูกไล่ออกก็เป็นผลพวงของการเมืองแบบเก่าๆนี่เอง คุณไปสอนเขามาอย่างนั้น สอนให้เขาถือกระเป๋าคอยแจกเงินมาตั้งแต่ต้น เขาเห็นตื้นลึกหนาบางของคุณมาตั้งแต่ต้นแล้วเขาจะเคารพคุณหรือ ก็คุณไปเล่นงานเจ้านายเขาจนงอมพระรามอย่างนั้น อย่าไปโทษว่าเขาไม่จงรักภักดีเลย และชอบใช้สถาบันทหารมาเป็นอาวุธ พวกพรรคการเมืองก็แย่ อย่างคุณชวนเองก็เคยถูกเล่นงานต้องหนีหัวซุกหัวซุน แต่พอตนเองขึ้นมามีอำนาจก็ทำอย่างนั้น เอาวิธีการนั้นมาเล่นงานคนอื่น เมื่อรู้อย่างนี้แล้วควรจะละเว้นไม่เขียนถึงได้ไหม
ThaiFreedom : เมื่อประมาณสองเดือนที่แล้ว เซียเขียนภาพใครคนหนึ่งนั่งบนรถเข็น ไม่ทราบว่ามีนัยสำคัญอะไร
เซียไทยรัฐ : ผมเขียนถึงคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่เค้าหน้ามันอาจกระเดียดไปทางนั้น ทำให้ถูกโจมตีได้ มันเป็นช่องโหว่ที่เราพลาดไปเอง เหมือนเปิดการ์ดให้เขาทิ่มหมัดเข้ามา แต่ไม่เป็นไร เจ้านายเขาเข้าใจ เพราะได้ดูงานผมทุกภาพว่าเขียนถึงใครอย่างไร แต่หลังจากนั้นก็มีคนนำไปโพสต์ลงเวบกันมาก ก็เลยถูกเล่นงาน เมื่อเร็วๆนี้ก็มีน้องนักข่าวสายทหารโทรมาถามว่า มือที่ชักใยเป็นมือใคร ผมตอบว่ามือป๋าไง เขาบอกว่าทหารชอบเลยฝากถามมา ถามว่าทำไมต้องปะพลาสเตอร์ ก็ป๋าโดนเล่นงานสะบักสะบอมก็เลยปะพลาสเตอร์ แต่หลายคนก็ตีความเกินเลยไปกว่านั้น ต่อมาก็มีคนช่วยนำภาพคุณสุเทพมาโพสต์ยืนยัน เรื่องจึงเงียบไป ใครจะไปกล้าเขียนขนาดนั้น ผมว่าเขาก็รู้แต่ต้องการจ้องจับผิดสร้างเรื่องทำลายผมเท่านั้นเอง
ThaiFreedom : รู้สึกหวั่นไหวไหม กับการถูกติฉินนินทาว่าเขียนการ์ตูนเพื่อรับใช้ทักษิณ
เซียไทยรัฐ : ไม่หวั่นไหว เพราะผมไม่เคยรู้จักใครที่ใกล้ชิดท่านทักษิณ นอกจากคุณสุธรรม แสงประทุมคนเดียว เคยพบท่านครั้งเดียวในงานการกุศลที่ทีเคปาร์ค ได้พูดคุยกันธรรมดา ผมเองก็ไม่ใช่คนวิเศษวิโสอะไรที่ท่านจะต้องมาติดต่อเป็นพิเศษ ใครมาพบผมที่สำนักงานก็จะเห็นสภาพความเป็นอยู่ของผมแบบนี้ ใครมากี่ครั้งก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรฟู่ฟ่าหรูหราขึ้นเลย ไม่ได้อยู่คฤหาสน์หลังใหญ่ เขียนการ์ตูนมันไม่พอกินหรอก ผมถึงต้องมาเปิดร้านอินเตอร์เน็ตเล็กๆ และก็ไม่ได้เปิดตลอด 24ชั่วโมง ถ้าเป็นนักเรียนในเครื่องแบบเข้ามาตอนแปดโมงถึงบ่ายสองโมงผมก็ไม่ให้เข้า พอถึงสามทุ่มก็ปิดแล้ว คือเราไม่สามารถทำอะไรมากไปกว่านี้ได้ เพราะเราอยู่ในจุดที่ทำงานในเชิงสังคมด้วย สอนคนมาก็มาก สอนในเรื่องวิชาการเขียนการ์ตูนนี่แหละ เคยไปสอนที่โรงเรียนจิตรดาในช่วงปิดเทอม เนื่องจากสมเด็จพระเทพฯมีพระดำริว่านักเรียนศึกษาเรื่องวิชาการกันมากแล้ว อยากให้ศึกษาเรื่องเบาๆอย่างการเขียนการ์ตูนบ้าง ถ้าเด็กไม่ชอบวิชาการก็อาจจะหันมาเอาดีทางเขียนการ์ตูนเป็นอาชีพได้ ซึ่งผมก็ดีใจที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตรงนั้น ถ้าใครจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการ์ตูนที่ไหน เชิญมาเราก็ไป อย่างเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็ไปหลายที่ ทั้งสี่ภาคทั่วประเทศ ความจริงงานเขียนการ์ตูนถ้ารู้จักทำให้ดีก็เป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ ส่วนใหญ่ก็ลงไปช่วยครูในต่างจังหวัดที่สนใจติดต่อเข้ามา เรื่องเงินทองค่าวิทยากรก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ มีเท่าไหร่ก็เท่านั้น
----------------------------------------------
บทสัมภาษณ์คุณศักดา เอียว (เซียไทยรัฐ)
อุปนายกสมาคมการ์ตูนไทย บ้านการ์ตูนเซีย ภาษีเจริญ กทม.
8 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 41.30 - 16.00 น.
การเมืองไทย 2553
การเมืองไทย 2553:ทางตันของคณะรัฐประหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์
โดย รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
--------------------------------------
1.ภูมิหลังปัญหาและความต่อเนื่องของความขัดแย้งการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 มิได้มีเป้าหมายเพื่อมุ่งกำจัดพรรคไทยรักไทยเท่านั้น แต่ต้องการกำจัดการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อการหวนคืนสู่อำนาจของการเมืองระบอบคณาธิปไตย โดยรัฐสภาที่มีเครือข่ายคณะรัฐประหารในกองทัพ ผู้ร่วมผลประโยชน์ภายนอกกองทัพ (ดังปรากฏบทบาทและตัวตนของบุคคลรวมทั้งองค์กรต่างๆหลากหลายวิชาชีพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา) ร่วมกันสืบทอดอำนาจปกครองโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายอื่นทั้งที่มีอยู่แล้วและที่บัญญัติขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะสำหรับการสืบทอดอำนาจภายในเครือข่ายคณะรัฐประหาร(รวมทั้งการกำจัดปรปักษ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย)
วิธีการหวนคืนสู่ระบอบคณาธิปไตยและสืบทอดอำนาจการเมืองการปกครองของเครือข่ายคณะรัฐประหาร 2549 กระทำเป็นกระบวนวิธีมีลำดับขั้นตอน โดย
1.1 ยึดอำนาจการเมืองด้วยกำลัง วันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 แต่ภายหลังได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตนเอง
1.2 จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร
1.3 มอบหมายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารเขียนบทบัญญัติทางกฎหมายกำหนดขั้นตอน ซ่อนวิธีสืบทอดอำนาจ และการควบคุมการเมืองการปกครองในรัฐสภาโดยใช้กฎหมายหรือนิติวิธี สืบเนื่องต่อจากช่วงเวลาที่ต้องการควบคุมด้วยกำลังอาวุธ (ได้แก่ บทบัญญัติว่าด้วยวุฒิสภา บทบัญญัติว่าด้วยการสรรหาองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาลเป็นสำคัญ)
ท่ามกลางความสำเร็จดังกล่าว เครือข่ายรัฐประหาร 2549 ประสบความล้มเหลวในเบื้องต้น (ทั้งๆที่ใช้ทุนสาธารณะของประชาชนไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งออกคำสั่งบังคับให้บุคลากรของกองทัพเป็นเครื่องมือสนับสนุนความพยายามของตน) คือความล้มเหลวของเครือข่ายรัฐประหารในการขัดขวางไม่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเสียงเลือกสมาชิกพรรคพลังประชาชน (พรรคการเมืองที่เอกสารทางทหารของคณะรัฐประหารระบุว่าเป็น “กลุ่มอำนาจเก่า” สืบแทนพรรคไทยรักไทย) เป็นผู้แทนราษฎรในเดือนธันวาคม 2550 และความล้มเหลวต่อเนื่องที่ไม่สามารถขัดขวางพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้สำเร็จเมื่อต้นปี 2551
จากนั้นตลอดปี 2551 เครือข่ายคณะรัฐประหารจึงตกอยู่ในสภาพ “แบ่งงานกันทำ” (และประสานงานกันบางส่วน) ในการขัดขวางสร้างอุปสรรคไม่ให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนบริหารประเทศได้โดยสะดวก เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ชื่อจัดตั้งตนเองไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์จริง) ใช้กำลังบุกทำลายทรัพย์สินของสถานีโทรทัศน์ของรัฐในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ บุกยึดทำเนียบรัฐบาล บุกยึดสนามบิน ผู้นำกองทัพและข้าราชการประจำที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากกลุ่มผู้ใช้กำลังและอาวุธกระทำการอันมีผลกระทบต่อความมั่งคงของรัฐและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเมืองภายในประเทศดังกล่าว ตอบสนองคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคพลังประชาชนด้วยการอิดเอื้อนรีรอ รวมทั้งบางส่วนแสดงท่าทีสนับสนุนแกนนำพันธมิตรฯและแถลงคล้อยตามการอ้างสิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญดำเนินงานประสานกันนำไปสู่การทำคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนพ้นจากตำแหน่งต้นเดือนธันวาคม 2551
พรรคประชาธิปัตย์ประสบความสำเร็จในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2551 โดยมีนายทหารจากเครือข่ายแกนนำกองทัพประสานงานสนับสนุนร่วมกับนักการเมืองย้ายพรรคจำนวนหนึ่ง ท่ามกลางสภาพปัญหาความขัดแย้งต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่า 1ปี ดำรงตำแหน่งท่ามกลางความขัดแย้งยาวนานกว่าพรรคพลังประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์กับเครืองข่ายคณะรัฐประหาร
แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ได้รับ “การรับรอง” ความเหมาะสมจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรกที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็มักปรากฎกายแถลงความเห็นทางการเมืองและเรื่องหลักการทั่วไป (คล้ายวิธีแสดงความคิดเห็นเชิงหลักการของนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ต่อสื่อมวลชน โดยมีนายทหารระดับแกนนำกองทัพ รวมทั้งแกนนำคณะรัฐประหาร 2549 เช่น พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา แวดล้อมในขณะแถลงความเห็นผ่านสื่อมวลชน ดังนั้นสาธารณชนไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจึงเกิด “ความกระจ่างชัด” ขึ้นตามลำดับว่าความร่วมมือทางการเมืองระหว่างอดีตผู้นำกองทัพ ผู้นำกองทัพในปัจจุบัน และพรรคประชาธิปัตย์(รวมทั้งคนอื่นๆที่ปรากฏตัวตนเข้าร่วมสนับสนุนเครือข่ายรัฐประหาร 2549 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา) เป็นความร่วมมือกันของเครือข่ายบุคคลในกลุ่มหรือฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 (นักการเมืองที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นแกนนำ)
ความกระจ่างชัดดังกล่าวได้พัฒนาเกินเลยจุดที่บรรดาผู้นำเครือข่ายรัฐประหารทั้งในและนอกกองทัพ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์สามารถจะปกปิดหรือกลบเกลื่อนความร่วมมือทางการเมืองระหว่างกันต่อไปได้ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อต่อสาธารณชนวงกว้าง (ตัวอย่างเช่น คำประกาศของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยใช้โน้มน้าวประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งว่าพรรคของตนเป็นพรรคการเมืองที่ “ต่อสู้เผด็จการ” จะมีคนเชื่อถือน้อยลงตามลำดับ คำแถลงส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีบางท่านที่พยายามฟื้นฟูความน่าเชื่อถือทางการเมืองให้พลเอกเปรมผู้ก้าวล่วงเข้าไปเป็น “ฝ่าย” ทางการเมืองในความขัดแย้งดังกล่าว เช่น คำแถลงว่า “องคมนตรีเป็นกลาง” จะมีสาธารณชนจำนวนมากรับรู้เพียงว่าหลักการต้องเป็นกลางแต่ทางปฏิบัติไม่เป็นจริงเช่นนั้น) ความกระจ่างชัดดังกล่าวเป็นผลกระทบลูกโซ่ที่เกิดขึ้นจากการกระทำต่างๆของแกนนำเครือข่ายรัฐประหาร โดยเครือข่ายรัฐประหารดังกล่าวไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นแต่ขัดขวางมิให้เกิดขึ้นไม่ได้
นอกเหนือจากความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และการดำรงตำแหน่งท่ามกลางความขัดแย้งและการปฏิเสธของประชาชนวงกว้าง รวมทั้งประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่เป็นเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 มาเป็นเวลายาวนานถึง 1 ปี รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายผลประโยชน์ทางการเมืองประสบความสำเร็จในการเสนอญัตติให้รัฐสภาอนุมัติกฎหมายเงินกู้สาธารณะ 2 ฉบับ วงเงินรวมทั้งสิ้น 8 แสนล้านบาท สาระสำคัญเป็นการออกกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลในการกู้เงินดังกล่าวมาใช้จ่ายตามโครงการและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลและเครือข่าย แต่ผลักภาระหนี้สินเป็นของประชาชน
ในต้นปี 2553 มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะโฆษณาชวนเชื่อด้วย “ข่าวสารด้านเดียว” ว่าผลการบริหารของตนทำให้เศรษฐกิจเริ่ม “กระเตื้องขึ้น” ในช่วงไตรมาสท้ายของปี 2552 โดยใช้ตัวเลขเปรียบเทียบกับระดับจีดีพีไตรมาสท้ายของปี 2551 (ช่วงปลายรัฐบาลพรรคพลังประชาชนซึ่งเศรษฐกิจชะงักงันอย่างรุนแรง จากผลของการถูกก่อกวนทางการเมืองตลอดปี รวมทั้งการใช้กำลังบุกยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิโดยกลุ่มพันธมิตรฯ) แต่ก็มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกันว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อาจพ้นจากตำแหน่งไปภายในปี 2553 เนื่องจากการดำรงตำแหน่งต่อไปนอกจากจะไม่สามารถใช้อำนาจบริหารที่มีอยู่ตอบสนองผลประโยชน์ของเครือข่ายรัฐประหารเพิ่มขึ้นมากนัก แล้วยังจะปรากฏ “ผลย้อนกลับทางการเมือง” ที่เป็นโทษมากขึ้นตามลำดับ ทั้งต่อสถานะทางการเมืองระยะยาวของพรรคประชาธิปัตย์เอง และต่อสถานะของบุคคลและองค์กรในเครือข่ายรัฐประหาร ผลย้อนกลับที่เป็นโทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในเครือข่ายผลประโยชน์คณะรัฐประหาร รวมทั้งต่อนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์บางคนเป็นโทษทางอาญา ซึ่งในอนาคตอาจไม่สามารถอ้างมาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นเหตุให้พ้นผิดได้
2. ทางตันของคณะรัฐประหาร 2549 และการต่อต้านรัฐประหารครั้งใหม่
ในปี 2553 เครือข่ายรัฐประหารและพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเผชิญกับสภาพปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้อย่างไม่ลดราวาศอกจากขบวนการภาคประชาชนเครือข่าย “นปช.” ที่มีแนวร่วมมวลชนทั่วประเทศสนับสนุน เครือข่ายรัฐประหารที่หนุนหลังการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะยิ่งถูกแนวร่วมประชาชนผลักดันให้ตกอยู่ในสภาพ “ทางตัน” ที่แม้ว่าจะสามารถใช้กลไกรัฐสภาและอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการตามรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเป็นประโยชน์ในการดิ้นรนสืบทอดอำนาจให้พรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศตามต้องการ ทั้งยังไม่สามารถดำเนินกระบวนการวิธีจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์(จากมาตรการเพิ่มภาษีและเงินกู้ภาครัฐ)เพิ่มเติมมากนัก นอกเหนือไปจากการคิดหาเทคนิคและความพยายามแนวทางใหม่ๆเพื่อใช้เงินกองทุนสาธารณะอื่นๆรวมทั้งทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในธนาคารแห่งประเทศไทย
การเผชิญหน้าท้าทายกับมวลชน นปช. ที่มีกลยุทธ์ยืดหยุ่นพลิกแพลงตอบโต้มาตรการของรัฐในการควบคุมหรือขัดขวางการชุมนุมของประชาชนได้ตลอดเวลา(ทั้งในปี 2552 และ 2553) จะยิ่งทำให้มาตรการต่างๆของเครือข่ายรัฐประหารและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อ่อนล้าประสิทธิภาพลงยิ่งกว่าสภาพในปี 2552
แม้ว่าจะมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 หนุนหลังรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจ แต่การต่อสู้และความขัดแย้งต่อเนื่องทางการเมืองที่ผ่านมาทำให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์รวมทั้งบุคลากรของกองทัพในเครือข่ายรัฐประหาร ไม่สามารถกำจัด ควบคุม หรือปราบปรามแนวร่วมประชาชนเครือข่ายนปช. แม้จะได้ใช้ความพยายามแสนสาหัสตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (แม้แต่การขัดขวางไม่ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับออกไปนอกประเทศอีกครั้งในปี 2551 โดยพยายามใช้อำนาจตุลาการขณะที่พรรคพลังประชาชนยังเป็นแกนนำรัฐบาล แต่กลุ่มอำนาจในเครือข่าย “ตุลาการภิวัฒน์” ที่เป็นปฏิปักษ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ก็ขัดขวางการเดินทางออกนอกประเทศครั้งดังกล่าวไม่สำเร็จ)
การดำรงอยู่ของความขัดแย้งและความสามารถในการยืนหยัดของแนวร่วมประชาชนทั่วประเทศ ในการท้าทายอำนาจบริหารของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี 2552 รวมทั้งการประกาศยกระดับการท้าทายทางการเมืองเพิ่มขึ้นในปี 2553 มีน้ำหนักเป็นข้อยืนยันที่ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับว่าคณะรัฐประหารและเครือข่ายผู้สืบทอดอำนาจไม่สามารถ “กำราบ” ประชาชนให้ “นิ่ง” ทางการเมืองตามต้องการเพื่อความสะดวกของเครือข่ายรัฐประหารดังกล่าวในการครอบครองอำนาจและจัดสรรผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นในปี 2553 จึงมีผู้คาดการณ์กันมากขึ้นว่าอาจเกิดการยึดอำนาจด้วยกำลังกองทัพอีกครั้งในฐานะที่เป็นวิธี “กำราบ” ขั้นเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
การที่ผู้บัญชาการทหารบก(พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา) ออกตัวทางการเมืองอีกครั้งในช่วงปลายปี 2552 โดยแถลงต่อสาธารณชนให้ “ลืม” เรื่องการก่อรัฐประหารและการนองเลือดในปี 2552 แทนที่จะช่วยให้สาธารณชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คนเสื้อแดง” ลืม แต่กลับเกิดความตื่นตัว ระมัดระวัง และเตรียมการกับความพยายามของผู้นำกองทัพในการยึดอำนาจครั้งใหม่มากขึ้น โดยมีตัวอย่างการรัฐประหาร 2549 ที่เรียกกันในแวดวงสื่อมวลชนว่า “รัฐประหารทีเผลอ” เป็นบทเรียน
การปรากฏตัวของผู้นำกองทัพ ข้าราชการประจำระดับสูง และผู้นำวงการตุลาการจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมอวยพรปีใหม่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในช่วงปลายปี 2552 หากพิจารณาให้ละเอียดรอบด้านจะเห็นว่า “แนวร่วม” ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีเพียงกลุ่มคนในแวดวงจำกัดเพียงใด และยังอาจเห็นได้ชัดเจนขึ้นด้วยว่ากลุ่มคนหลากหลายอาชีพของสังคมไทยปัจจุบัน รวมทั้งอดีตผู้นำในกองทัพ (แม้ว่าในอดีตจะเคยปรากฏตัว “เคียงข้าง” พลเอกเปรม) กำลังแสดงการปฏิเสธ รวมทั้งอยู่ระหว่างการชั่งน้ำหนักทางการเมืองเนื่องจากไม่แน่ใจในศักยภาพของการทำรัฐประหารอีกต่อไป
หากมีความพยายามยึดอำนาจโดยผู้นำกองทัพในปี 2553 (สภาพ “ทางตัน” ของเครือข่ายรัฐประหาร รวมทั้งแรงกดดันทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกรัฐสภาให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาบังคับใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นปัจจัยกดดันเพิ่มน้ำหนักการตัดสินใจยึดอำนาจ) การพยายามใช้กำลังยึดอำนาจดังกล่าวจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ขณะที่เครือข่ายมวลชนนปช.ทั่วประเทศในปัจจุบัน (และกลุ่มพลังเงียบประเมินจำนวนมิได้) มีศักยภาพการรวมตัว การชุมนุม และการต่อต้านกองกำลังทหารที่กระทำผิดทั้งทางอาญาและทางการเมืองอย่าง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” และถูกต้องตามกฎหมายในฐานะประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยร่วมกันตามรัฐธรรมนูญ
ในกรณีหากมีความพยายามยึดอำนาจโดยผู้นำกองทัพดังกล่าว สภาวะ “การเมืองนองเลือด” จะเกิดขึ้นได้ต่อไป โดยเป็นไปได้ทั้งสภาวะการเมืองนองเลือดแบบ “กรณี 14 ตุลาคม 2516 หรืออาจเป็นกรณี 6 ตุลาคม 2519” (ฝ่ายประชาธิปไตยต้องการกรณี 14 ตุลาคม 2516 ขณะที่ฝ่ายคณาธิปไตยต้องการกรณี 6 ตุลาคม 2519) จนถึงปลายเดือนธันวาคม 2552 สาธารณชนยังไม่เห็นรูปธรรมของการตกลงเจรจาคลี่คลายความขัดแย้ง การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ที่มีวุฒิสภาเป็นแกนหลักผลักดัน โดยพยายามเบี่ยงเบนไปเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพียง 2-6 มาตรา เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารงานของรัฐบาลและเพื่อลดต้นทุนการหาเสียงแบบแบ่งเขตของพรรคการเมืองในอนาคต ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเด่นในช่วงปี 2552 ไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งที่ระดับโครงสร้างของปัญหา แต่ยิ่งจะนำไปสู่การสะสมความขัดแย้งแบบเก็บกดระหว่างสองฝ่ายมากขึ้น พัฒนาการล่าสุดเกี่ยวกับความพยายามคลี่คลายความขัดแย้งด้วย “การเจรจา” เท่าที่ปรากฏร่องรอยให้วิเคราะห์สรุปได้คือ ฝ่ายประชาธิปไตยเสนอการยุติความเคลื่อนไหวในเครือข่ายมวลชนของตน หากมีการดำเนิการให้เป็นผลใน 3 เรื่อง ได้แก่
(1) การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาบังคับใช้
(2) นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา
(3) จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปด้วยความยุติธรรมและเคารพกติกาประชาธิปไตย
ขณะที่ฝ่ายคณาธิปไตยไม่เสนอว่าตนจะยินยอมถอนตัวออกจากอำนาจควบคุมทางการเมืองอย่างไร แต่ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ข้อเสนอการเจรจาดังกล่าว (ผ่านการสนทนาระหว่างพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับผู้สื่อข่าว การให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการให้สัมภาษณ์ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ว่าต้องการให้อีกฝ่ายยุติการขัดขวางการทำงานของรัฐมนตรีที่เดินทางไปในพื้นที่ ต้องการให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุติการเคลื่อนไหวและกลับมารับโทษจำคุกในประเทศไทย และไม่ต้องการยกเลิกการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550
ดังนั้น สภาวะการเมืองในปี 2553 จึงยังไม่ปรากฏรูปธรมของ “การสมานฉันท์” เกิดขึ้นให้สังเกตเห็นได้จากข่าวสารข้อมูลที่สาธารณชนรับรู้ เนื่องจากแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งยังมีความต้องการสวนทางกัน คือฝ่ายหนึ่งต้องการให้ “ระบอบอำมาตย์” ถอนตัวออกไปจากการควบคุมอำนาจการเมืองไทย ขณะที่อีกฝ่ายแสดงเจตนาสืบทอดอำนาจการปกครองโดยต้องการให้ประชาชนและกลุ่มพลังการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลปัจจุบัน “ยอมรับ” การสืบทอดอำนาจการปกครองดังกล่าว สภาวะการเมืองไทย พ.ศ.2553 จะเริ่มต้นปีใหม่ด้วยสภาพพื้นฐานข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่ายังมีความต่อเนื่องของความขัดแย้งจากภูมิหลังปัญหาข้างต้น
3. สถานะของประเทศในอาเซียนและประชาคมโลก
ตลอดเวลากว่า 3 ปีนับตั้งแต่คณะผู้นำกองทัพตัดสินใจก่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สถานะทางการทูต การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศไทยได้พัฒนาถดถอยตกต่ำลงตามลำดับ รูปธรรมการถดถอยโดยรวม ได้แก่ การที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศเครือข่าย “ประเทศประชาธิปไตยนานาชาติ” ในปี 2550 รัฐบาลพรรคพลังประชาชนต้องตัดสินใจเลื่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปี 2551 เนื่องจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ท่ามกลางการเคลื่อนไหวแบบใช้กำลังโดยแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยาในเดือนเมษายน 2552 แต่ต้องยุติการประชุมตั้งแต่ช่วงวันแรก ท่ามกลางความเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงโดยมวลชนนปช. รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและนายกรัฐมนตรีเกิดประเด็นการโต้เถียงที่มิใช่การเจรจาทางการทูต แต่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ทั้งในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนตุลาคม 2552 และภายหลังการประชุมโดยมีสื่อมวลชนนานาชาติรับรู้และรายงานข่าวไปทั่วโลก ทั้งนี้นอกเหนือไปจากความถดถอยทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่ามาจากสาเหตุเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยละเว้นที่จะแถลงรายละเอียดผลกระทบจากความถดถอยที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมหรือถูกซ้ำเติมจากการก่อความวุ่นวายทางการเมืองโดยเครือข่ายผู้ต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนตลอดปี 2551 เช่น การสูญเสียรายได้เงินตราต่างประเทศจากนักท่องเที่ยว ที่ตัดสินใจยกเลิกหรืองดเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงที่เกิดความวุ่นวาย เป็นต้น
การฟื้นฟูสถานะและความน่าเชื่อถือของอำนาจรัฐไทยภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งในทางการทูต การเมือง และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จะเป็นภาระงานที่ยากจะประสบความสำเร็จคืบหน้ามากนักในปี 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากเกิด “กรณีปัญหามาบตาพุด” ที่ทำให้ระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ(โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น)ลดลง ทั้งในประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นในการเป็นประเทศเศรษฐกิจเสรีตามกติกาสากลและความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมในศาลไทย
สภาวะความตกต่ำถดถอยในสถานะของประเทศที่สะสมเป็น “ทุนติดลบ” พอกพูนตามลำดับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร 2549 เป็นส่วนหนึ่งของ “ปัจจัยต้านทาน” การตัดสินใจก่อการยึดอำนาจครั้งใหม่ เนื่องคณะผู้วางแผนหรือคิดเตรียมการยึดอำนาจครั้งใหม่ประเมินได้ว่า แม้กลุ่มตนอาจประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจครั้งใหม่ แต่โอกาสในการแสวงหา “ส่วนต่างผลประโยชน์แห่งชาติ” รวมทั้งปริมาณส่วนต่างผลประโยชน์ที่กลุ่มตนจะแสวงหาได้โดยใช้อำนาจภายหลังยึดอำนาจ จะยิ่งจำกัดแคบลงยิ่งกว่าสภาพการณ์ในปี 2550 และปี 2552 ความพยายามเชื้อเชิญนักลงทุนจากต่างประเทศให้กลับเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อสร้างหรือเพิ่มพูน “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ให้รัฐบาลไทยใช้บริโภค จัดสรร และดำเนินการต่างๆทางเศรษฐกิจการเมืองภายหลังการยึดอำนาจครั้งใหม่ จะเป็นความพยายามที่แกนนำคณะรัฐประหารเองไม่มั่นใจในผลสัมฤทธิ์ทางปฏิบัติ แม้ว่าคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจในเครือข่ายคณะรัฐประหารจะยืนยันว่าระบบเศรษฐกิจของไทยยังเข้มแข็งและ “น่าลงทุน” สำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ
ตลอดปี 2552 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ถูก “ต้อน” ให้ตัดสินใจดำเนินการทางการเมืองที่สัมฤทธิ์ผลส่วนใหญ่เป็นการผลักดันทางการเมืองให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายรัฐประหารเคลื่อนเข้าสู่ “ทางตัน” ของกลุ่มตนตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินมาตรการภายในประเทศที่ไร้ผล เนื่องจาก นปช.สามารถพลิกแพลงยืดหยุ่นการนัดชุมนุมของตนได้ตลอดเวลา รวมทั้งมาตรการทางการเมืองระหว่าประเทศ เช่น การลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตภายหลังเกิดกรณี “วิวาทะไทย-กัมพูชา 2552” ระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับสมเด็จฮุนเซ็นในเดือนตุลาคม 2552
รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2553 จะเผชิญกับสภาพปัญหาและ “ทางตัน” ที่ทำให้อาจไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อเนื่องไปได้ถึง “ปีกระต่าย”(พ.ศ.2554) ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อต้นปี 2553 ทั้งนี้แม้ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันอาจกำหนดเป้าหมายการดำรงตำแหน่งให้ครบวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน(อีกประมาณ 2 ปี)
4. พลังและอำนาจต่อรองของฝ่ายที่ขัดแย้ง
รายละเอียดข้อเท็จจากกระแสการเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่าย ท่ามกลางความต่อเนื่องของพลวัตรความขัดแย้งตลอดเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดเจนขึ้นตามลำดับว่าแต่ละฝ่ายมี “จุดแข็ง” หรือความเข้มแข็งของ “ปัจจัยการต่อสู้” แตกต่างกัน
1.รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจหนุนหลังมีจุดแข็งอยู่ใน “กำลังอาวุธของกองทัพ” ที่บุคลากรในเครือข่ายอำนาจของตนสามารถครอบครองตำแหน่งบังคับบัญชาการสูงสุดอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่อีก “ “ฝ่าย” หนึ่ง(ประชาธิปไตย) มีปัจจัยเข้มแข็งสูงสุดอยู่ใน “แนวร่วมประชาชน” จำนวนมากมายยิ่งกว่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์การต่อต้านอำนาจรัฐไทยทุกครั้งที่ผ่านมา(ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านโดยขบวนการที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด) ทั้งยังมีเครือข่ายประชาชนแบบ “หลายศูนย์กลาง” นอกเหนือไปจากศูนย์กลางแกนนำ นปช.ที่กรุงเทพฯ ยังมีศูนย์กลางแนวร่วมมวลชน นปช.ในต่างจังหวัด และศูนย์กลางแนวร่วมมวลชนที่ดำเนินงานเป็นเอกเทศ แต่ผูกพันเป้าหมายทางการเมืองคล้ายคลึงกันกับกลุ่มนปช.ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด (ข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวนี้เป็นที่เปิดเผยรับรู้อย่างเป็นสาธารณะมาก่อนแล้ว แต่บางกรณีถูกตีความคลาดเคลื่อน โดยสื่อมวลชนบางสำนักชี้ว่าเป็น “ความแตกแยก” ภายในกลุ่มคนเสื้อแดง ขณะที่บางกรณีอาจมีการจัดตั้งกลุ่มมวลชน เพื่อแอบแฝงหรือปะปนแทรกซึมสู่กระบวนการคนเสื้อแดงโดยยุทธวิธีที่หน่วยงานในสังกัด “รัฐเผด็จการทหาร” ในอดีต เช่น กอรมน.และสภาความมั่นคงแห่งชาติเคยใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองยุค “สงครามเย็น”)
สภาวะการก่อตัวเพิ่มพูนเครือข่ายมวลชนต่อต้านการรัฐประหารแบบ “หลายศูนย์กลาง” ที่ดำเนินต่อเนื่องได้ตลอดเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงปี 2551 ที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช สามารถหยัดยืนดำรงตำแหน่งบริหารเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของเครือข่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านการรัฐประหาร) เป็น “จุดแข็ง” ที่ทำให้อีกฝ่ายประสบความยากลำบากในการบั่นทอนและยากต่อการใช้กำลังอาวุธเข้ากวาดล้างปราบปรามแบบเบ็ดเสร็จโดยอาศัยอำนาจรัฐที่ครองอยู่ แม้ว่าเครือข่ายคณะรัฐประหารและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกันจะเคยดำเนินการ “ยุทธการนำร่อง” ที่มุ่งหมายการฝึกปฏิบัติการด้วยวิธี “สนธิกำลังทหาร ตำรวจ” เข้าตรวจค้นจับกุมและจู่โจมศูนย์กลางวิทยุชุมชนของเครือข่ายมวลชนในจังหวัดภาคเหนือมากกว่า 1 ครั้งระหว่างปี 2552 แต่การประเมินผลเชิงยุทธการของการดำเนินปฏิบัติการทดสอบนำร่องดังกล่าวไม่เป็นที่เปิดเผย
2.ระหว่างปี 2550-2552 การโฆษณาชวนเชื่อของเครือข่ายรัฐประหารว่าเป็นฝ่ายที่จงรักภักดีและทำงานรับใช้เบื้องสูง(ชาติ ศาสน์ กษัตริย์) ยังมีผลสัมฤทธิ์เป็นพลังเกื้อหนุนการสืบทอดอำนาจของเครือข่ายรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่การอ้างสถานบันเบื้องสูงเป็น “เกราะกำบัง” เครือข่ายรัฐประหารและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2553 จะลดประสิทธิภาพลง โดยสาธารณชนวงกว้างมากขึ้นจะเริ่มขาดความเชื่อถือในการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าวตามลำดับ ปรากฏการณ์เช่นนี้สังเกตเห็นได้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงกลางปี 2552 ขณะเดียวกันกลุ่มมวลชนที่ปราศรัยปลุกระดมแนวทางการต่อสู้ “โค่นล้มระบอบอำมาตย์” ด้วยการโน้มน้าวความคิดให้ประชาชนเชื่อใน “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอำมาตย์กับสถาบันกัตริย์” จะได้รับการสนับสนุนจากมวลชนน้อยลงตามลำดับเช่นกัน สภาวะดังกล่าวจะยิ่งทำให้เครือข่ายรัฐประหารและรัฐบาลผสมพรรคประชาธิปัตย์ (รวมทั้งพรรคภูมิใจไทยผู้เป็นเจ้าของนโยบายกลุ่มพลัง “เสื้อสีน้ำเงิน”)ประสบความยากลำบากมากขึ้นในการอ้างใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวมวลชนที่ปราศรัยอย่างเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันกษัตริย์ในการกล่าวหาแกนนำนปช. และมวลชนคนเสื้อแดงในเครือข่ายนปช.ว่ามีจึดมุ่งหมายในการ “ล้มเจ้า” การโฆษณาชวนเชื่อแบบ “เอาดีใส่ตัว”ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจหนุนหลัง รวมทั้งกลุ่มผู้นำกองทัพที่สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลเป็นผู้จงรักภักดี และการโฆษณาชวนเชื่อแบบ “เอาชั่วใส่ผู้อื่น” ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แกนนำนปช. และมวลชนเสื้อแดงมีเจตนา “ล้มเจ้า” จะหย่อนประสิทธิภาพลงมากในปี 2553 ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องเป็นการลดทอนความเข้มแข็งในพลังของเครือข่ายรัฐประหารและผลักดันให้การเมืองไทยไปสู่ทางตันมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากจุดยืนผลประโยชน์ของเครือข่ายคณะรัฐประหาร
3.รัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอาจยังคงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินมาตรการทางรัฐสภาของพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่ยังคงถูกใช้เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในการสืบทอดอำนาจและต่อสู้กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2553 แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการจัดการชุมนุมประชาชนและการใช้สิทธิทางการเมืองของแนวร่วมมวลชนนปช.แต่อย่างใด ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2553 แม้ว่าจะสามารถถูกใช้เป็น “เครื่องมือสืบทอดอำนาจทางการเมือง” ให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจหลังการรัฐประหารได้ในทางปฏิบัติ แต่รัฐธรรมนูญแบบคณาธิปไตยฉบับดังกล่าวก็ไม่สามารถจะเป็น “เครื่องมือต่อต้านการชุมนุม” ที่มวลชนนปช.จะดำเนินการต่อไป ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามมวลชนนปช.จะคาดหวังหรือแม้แต่พยายามสร้างสถานการณ์ให้การจัดการชุมนุมประชาชนในเครือข่ายนปช. มีการกระทำอันเข้าข่ายเป็นความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ความผิดฐานเป็นกบฎตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และความผิดที่เกี่ยวพันกันตามมาตรา 114-118) แต่การเรียนรู้จากประสบการณ์และการศึกษาข้อกฎหมายภายในแวดวงแกนนำนปช. รวมทั้งการเผยแพร่เรียนรู้สู่มวลชนนปช.ตามโครงการ “โรงเรียนนปช.” ตลอดปี 2552 ที่ผ่านมา จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการกระทำผิดดังกล่าวหรือช่วยลดความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการแทรกแซงที่ควบคุมได้ยากในการดำเนินกระบวนการมวลชนประชาธิปไตย
การเมืองไทยในปี พ.ศ.2553 ไม่ใช่ “การเมืองที่ดี” ในทัศนะ จุดยืน ผลประโยชน์ของเครือข่ายระบอบคณาธิปไตย แต่จะเป็น “การเมืองที่ปั่นป่วนวุ่นวาย” ซึ่งเครือข่ายรัฐประหาร 2549 พรรคประชาธิปัตย์ และเครือข่ายอำนาจการเมืองหลังการรัฐประหาร 2549 รวมทั้งสำนักโพลที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งพยายามเรียกร้องให้ประชาชนยุติการเคลื่อนไหว ******************************
บรรยายในการสัมมนาหัวข้อ “การเมืองไทย 2553 : ทางตันของคณะรัฐประหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์”
จัดโดยผู้นำการพัฒนาประชาธิปไตย รุ่น 1-3 มูลนิธิบ้านเลขที่ 111 ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
วันที่ 16 มกราคม 2553 เวลา 13.00-16.00 น.
วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ยื่นหนังสื่ออุปทูตซาอุฯ /สุเทพสั่งจับตานักรบเพื่อนบ้าน
วันนี้ (10 กุมภาพันธ์) นาบิล ฮุสเซน อัซรี อุปทูตซาอุดิอาระเบีย ได้ให้การต้อนรับแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่สถานทูต พากันไปยื่นหนังสือถึงอุปทูตซาอุฯ ขอ ให้ทวงถามรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จัดการพล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 หลังศาลประทับรับฟ้องคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ
มีข่าวลึก แต่ไม่ลับออกมาว่า อำมาตย์สั่ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ให้ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของแกนนำคนเสื้อแดงอ้างถูกนำมาใช้กระทำผิดกฏหมาย
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ออกมาระบุไม่ยืนยันเงินนอกหนุนพวกฮาร์ดคอร์ป่วนประเทศ สั่งจับตานักรบประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วม
รัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงออกมาระบุเช่นนี้ อาจทำให้ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง อย่าง พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ที่อยู่ๆ ท่านรัฐมนตรีเหวี่ยงแหเหมาเข่งออกมากล่าวเช่นนั้น โดยไม่ระบุให้ชัดเจว่าเป็นประเทศไหน
จากกรณีนี้คงมีหลายฝ่ายอยากเตือนว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นผลดีแกส่วนรวม เพราะอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เคยอยู่ร่วมกันด้วยดีมาช้านานมีปัญหา และอาจลุกลามบานปลายทำให้มองหน้ากันไม่สนิท
"โอ๊ค เอม" ยื่นแถลงปิดคดียึดทรัพย์
วันนี้ (10 กุมภาพันธ์) นายพานทองแท้ (โอ๊ค) และ นางสาวพิณทองทา (เอม) พร้อมกับนายกิตติพร อรุณรัตน์ ทนายความ เดินทางมายื่นคำแถลงปิดคดีของนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา จำนวน 2 ฉบับ มีความหนากว่า 120 หน้า รวม 15 ประเด็น โดยยืนยันทั้งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิทรัพย์สินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปฏิเสธเป็นนอมินีพ่อ
นายพานทองแท้ ระบุท้ายคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษายกคำร้องของอัยการสูงสุดเกี่ยวกับทรัพย์สินของนายพานทองแท้ และให้เพิกถอนการอายัดเงินรวมทั้งหลักทรัพย์ของนายพานทองแท้ จำนวน 17,150,292 ,534 บาท ส่วน นางสาวพินทองทา จำนวน 23,529,837,028.60 บาท
"ทักษิณ" อัดรัฐปูนโอนเงินให้เสื้อแดงป่วน ท้าโชว์หลักฐาน
อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อัดรัฐบาลนิสัยสีม่วงปูดโอนเงินให้คนเสื้อแดงป่วน ท้าให้โชว์หลักฐาน บอกพวกมีนิสัยชอบใส่ร้าย
ด้านนายจตุพร พรหมพันธ์ หนึ่งในแกนนำประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ท้าทาย นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอเดิมพันตำแหน่ง ให้โชว์หลักฐานการเงินโอนจากต่างประเทศ ที่นายปณิธานอ้างเป็นท่อน้ำเลี้ยงคนเสื้อแดง
รวมทั้งคนอื่นๆ ที่ออกมาระบุแกนนำคนเสื้อแดงได้รับท่อน้ำเลี้ยงจากต่างประเทศ ขอให้โชว์หลักฐานออกมา อย่าดีแต่นั่งจินตนาการ วาดวิมานในอากาศผ่านสื่อหวังใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นโดยไม่มีมูลความจริง หวังผลให้กลุ่มคนเสื้อแดง และสังคมเกิดความสงสัยในตัวอดีตนายก ฯ ทักษิณและบรรดาแกนนำ แล้วยังกล่าวต่อไปอีกว่า ลูกไม้เดิมๆ ที่เคยใช้กับอดีตนายก “ทักษิณ” ใช้ไม่ได้ผล ประชาชนเขารู้ทัน
บ่ายวันนี้ (10 กุมพาพันธ์) นายสุพร อัตถาวงศ์ (แรมโบ้อีสาน) จะเข้าชี้แจง ปปช. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรณีกล่าวหานายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมป่าไม้ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณี พล.อ.สุรยุทธิ์ จุลานนท์ บุกรุกที่ดินเขายายเที่ยง
"ทักษิณ" ระบุเสื้อแดงสู้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผลพวง 19 กันยา
อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ระบุสิ่งที่คนเสื้อแดงต่อสู้ในวันนี้ เกิดจากผลพวงของการทำรัฐประหาร 19 กันยาและอำมาตย์ตัดสินใจเลือกรัฐบาลผิด ทำให้เกิดกระบวนการสองมาตรฐาน ยกตัวอย่างกรณีคดีของตนเอง บอกให้มาติดคุกก่อนทั้งที่ยื่นฏีกาไปนานแล้ว แต่รัฐบาลกลับเอาไปดองไว้ ผิดกับคดีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ขอพระราชทานอภัยโทษเรื่องผ่านเร็ว
นายทหารคนสนิทของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ออกมายืนยันว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรไม่ได้โอนเงินให้ พล.อ.ชวลิต เพื่อป่วนรัฐบาล แต่ที่มีกระแสข่าวออกมาเป็นเพราะมีคนจงใจใส่ร้ายให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ส่วนพล.ต.ดร.ขัตยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ก็ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้เช่นกัน
วันนี้ (10 กุมภาพันธ์) กลุ่มคนเสื้อแดงนัดรวมพลที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)เวลา 12.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมกำลังสองกองร้อยรักษาความปลอดภัย
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจ 200 นายตั้งแถวรับกลุ่มคนเสื้อแดง มีหน่วยคอมมานโด กองปราบ เตรียมพร้อมอยู่ภายใน เวลาดังกล่าวการจราจรยังเคลื่อนไหวได้ดี
ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุหากมีการยึดทรัพย์ “ทักษิณ” 7.6 หมื่นล้านได้ ก็สามารถเอาคืนได้เช่นกัน เตรียมการเอาคืนหลังได้เป็นรัฐบาล
เรื่องนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสภากาแฟ หากประชาชนเห็นว่า “ทักษิณ” ไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งยกตัวอย่างคดีต่างๆ ที่ผ่านมาตั้งแต่ 19 กันยา แล้วร่วมกันเข้าชื่อยืนต่อองค์กรนานาชาติ หลายฝ่ายมองว่าน่าจะทำได้
ประชาชนทุกประเทศ ฝากความหวังสุดท้ายไว้กับ “ศาลสถิตย์ยุติธรรม” ซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชนทุกชนชั้นเมื่อเกิดมีคดีความ แต่เมื่อใดที่พวกเขาเหล่านั้นเห็นว่า “ไร้มาตรฐาน ไม่สามารถพึ่งพาได้ หรือมีกระบวนการ 2 มาตรฐานและสามารถพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์” เมื่อนั้น “ความน่าเชื่อถือ” จะหมดสิ้นลง ทั้งในสายตาผู้คนในประเทศและนานาชาติ
หากเป็นเช่นนั้น สังคม เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ในประเทศดังกล่าวข้างต้นจะเป็นเช่นไร? เมื่อกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้าย “เสื่อม” ในสายตาชาวโลก
TS Live (9 กุมภาพันธ์)/มติ ครม. เห็นชอบแผนรักษาความปลอดภัยทั่วประเทศ
เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. วันนี้ (9 กุมภาพันธ์)อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ SMS ผ่านระบบมือถือถึงผู้ขอรับบริการ “มีข่าวว่าผมอยู่เขมร อย่าเชื่อ ผมอยู่ดูไบ ไปเขมรเมื่อไรจะบอกจะได้ไม่ไปเก้อ”
วันนี้นายอภิชาต สุขคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมายอมรับว่าไม่สามารถพิจารณาคดีเงินบริจาค 258ล้านของพรรคประชาธิปัตย์ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ได้ เหตุเพราะต้องตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินกับแบงค์ชาติก่อน
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนรักษาความปลอดภัยทั่วประเทศของ กอ.รมน. และได้มอบอำนาจสั่งการให้หน่วยงานของรัฐปูนบำเหน็ด 2 ขั้น แก่เจ้าหน้าที่ทุกคนใน กอ.รมน.
ไม่รู้ว่าหน่วยงานอื่นภายใต้การกำกับของรัฐจะคิดเช่นไรในการปูนบำเหน็ดให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ที่รัฐบาลได้มอบหมายให้รักษาความปลอดภัยทั่วประเทศ เหตุเพราะเตรียมป้องกันการเคลื่อนไหวของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานสุ่มเสี่ยง อาทิ ตำรวจ-ทหารใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ที่ปฏิบัติงานตามแนวชายแดน
คงมีหลายฝ่ายสงสัยไม่น้อยว่ารัฐบาลบริหารประเทศเพียงปีเศษ แล้วเพราะเหตุใดจึงเกิดแรงกระเพื่อมจากประชาชนมากมาย ถึงขนาดรัฐบาลต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติแผนรักษาความปลอดภัยทั่วประเทศ โดยใช้งบประมาณจากเงินภาษีประชาชนปูนบำเหน็ด 2 ขั้นให้กับผู้ปฏิบัติงาน และนี่คงเป็นคำถามตัวโตๆ ที่รัฐบาลต้องตอบคนในชาติและนานาชาติไปพร้อมๆ กัน ว่าเวลานี้ “ประเทศไทย” ไร้ความปลอดภัยแล้วหรือไร
เมื่อเหตุการณ์เป็นฉะนี้ ภาคเศรษฐกิจ สังคม การลงทุน การท่องเที่ยว ในประเทศไทยจะเป็นเช่นไร กับแผนการรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลที่มอบให้กับ...........?
แถลงการณ์ นปช./ส.ว.สายพันธมิตรฯ แนะนายกฯ ปิดสื่อเสื้อแดง
วันนี้ (9 กุมภาพันธ์) แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.)แดงทั้งแผ่นดิน ออกมาแถลงจุดยืนในการเคลื่อนไหว ว่าจะต่อสู้โดยสันติวิธี เป็นอิสระจากการต่อสู้ตามแนวทางกองทัพประชาชนของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี และพล.ต.ดร.ขัติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง)
ด้านพรรคเพื่อไทย ออกมาทวงถามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ส่ง SMS ตอนเข้ารับตำแหน่ง หากคดียังไม่คืบหน้า ส.ส.ของพรรคเตรียมเข้าชื่อถอดถอน ป.ป.ช.
พรุ่งนี้ (10 กุมภาพันธ์) เวลา 12.00 น. แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน เชิญชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมชุมนุม “โค่นอำมาตย์ กู้ศักดิ์ศรีตำรวจไทย” ทวงถามความคืบหน้าคดีต่างๆ ของพันธมิตรฯ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ปทุมวัน
นายคำนูญ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อดีตพนักงานเอเอสทีวี ผู้จัดการ เสนอ ให้นายอภิสิทธิ์ ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ปิดสถานีวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงก่อนมีการนัด ชุมนุมใหญ่
ข้อเสนอปิดวิทยุชุมชมของท่าน ส.ว.สรรหา คงมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ที่เห็นด้วยก็เพราะตัดการติดต่อสื่อสารของกลุ่มคนเสื้อแดง สกัดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่ท่าน ส.ว.คงลืมไปแล้วว่า ปิดสื่อวิทยุชุมชนก็ยังมีสื่ออื่นๆ อาทิ อินเทร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่ และที่สำคัญยังมีสื่อต่างประเทศร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง ยิ่งคนเสื้อแดงมีจำมากเท่าใด ข่าวสารก็จะยิ่งกระจายไปหลายสาย หลายปาก หลายข้อมูล และอาจจะไวกว่าสื่อวิทยุชุมชน
เมื่อมีการปิดสื่อของกลุ่มคนเสื้อแดง ข่าวสารที่ออกมาจะไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รัฐบาลเองก็จะจับทางกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ถูก อาจส่งผลให้ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด
ข้อสำคัญหน่วยงานใดจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติและต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่กี่มากน้อย ถึงจะรอดพ้นจากการถูกปิดล้อมของตีนตบพิฆาต หรือไม่ก็หัวใจตบของคนรากหญ้า นับร้อยนับพันที่รออยู่หน้าสถานีวิทยุในพื้นที่แต่ละจังหวัด และถึงทำได้ก็คงจะถูกกระแสสื่อทั้งในและต่างประเทศโจมตีว่ารัฐบาลกำลังใช้อำนาจ “เผด็จการ” ปิดหูปิดตาประชาชน
ถ้าหากจะทำก็คงต้องใช้ช่วงเวลาที่กลุ่มคนเสื้อแดงพากันยกพลเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมชุมนุมใหญ่ แล้วเจ้าหน้าที่ที่อยู่รอบนอกค่อยใช้วิธี “ปิดประตูตีแมว” จึงจะสามารถปิดสื่อของคนเสื้อแดงเป็นผลสำเร็จ แต่จะแน่ใจได้อย่างไร่ว่ากำลังที่ส่งลงไปจะไม่ถูกกลุ่มคนเสื้อแดง ล้อม "ปิดประตูตีแมว" เรียบแล้วไปแล้วเช่นกัน
วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
ม็อบคลองด่านจี้ป.ป.ช.เร่งฟัน"วัฒนา-ยิ่งพันธ์-สุวัจน์"ก่อนคดีหมดอายุความ
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 9 ก.พ. ชาวบ้านตำบลคลองด่านจำนวน 50 คน นำโดยนายเฉลา ทิมทอง เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนมติวันที่ 3 พ.ย.2552 กรณีให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จ้างทีมสำรวจและเดินหน้าโครางการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการต่อไป เนื่องจาก 1.โครงการดังกล่าวไม่เคยทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 2.มติดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาที่เป็นเครือญาติรัฐมนตรีในรัฐบาลให้ไม่ต้องติดคุกและล้มละลาย 3.มติดังกล่าวทำสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชน และการประมงชายฝั่ง และ 4.เป็นมติอัปยศ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เคยประกาศว่า ประชาชนต้องมาก่อน แต่มติครม.ดังกล่าวกลับเห็นแก่พรรคร่วมมากกว่าประชาชน พร้อมขอให้ทวงค่าก่อสร้าง 16,000 ล้านบาทคืนมา โดยมี ร.อ.ทวิช ศุภวรรณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับหนังสือแทน
ต่อมาชาวบ้านตำบลคลองด่าน เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ผ่านทางนายวิทยา อาคมพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและประมวลผล สำนักงานป.ป.ช. เพื่อขอให้คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตก่อสร้างโครงการคลองด่านที่มีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช.เป็นประธาน เร่งพิจารณาคดีเพื่อส่งฟ้อง เนื่องจากคดีเหลืออายุความเพียง 3 เดือนเท่านั้น โดยคดีดังกล่าวมีผู้ถูกกล่าวหา ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป.ป.ช.เป็นนักการเมือง 3 คน นอกจากนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.มหาดไทย นายยิ่งพันธุ์ มนะสิการ อดีตรมว.วิทยาศาสตร์ฯ ยังรวมถึงนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรมว.วิทยาศาสตร์ฯ ที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ให้บริษัทเอกชนหาที่ดินก่อสร้างเอง เปิดโอกาสให้นายทุนที่กว้านซื้อที่ดินไว้แล้วนำที่ดินดังกล่าวมาขาย
“นอกจากนี้ ชาวบ้านยังอยากให้คณะกรรมการป.ป.ช.ตรวจสอบการทำหน้าที่ของอัยการสูงสุด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีแยกสำนวนส่งฟ้องข้าราชการกับนายวัฒนา อัศวเหม ในคดีทุจริตคลองด่านกรณีออกเอกสารสิทธิ์ทับที่สาธารณะ จนทำให้คดีความอายุความ ไม่สามารถเอาผิดข้าราชการกลุ่มดังกล่าวได้ ทั้งที่หากส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการกลุ่มดังกล่าวก็อาจถูกศาลตัดสินลงโทษเช่นเดียวกับนายวัฒนา” นายเฉลา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการยื่นหนังสือ ชาวบ้านตำบลคลองด่านยังใช้รถกระบะติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลด้วย ที่หน้าทำเนียบ บริเวณประตู 4 ฝั่งถนนพิษณุโลกด้วย โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ารถกระบะคันดังกล่าว ติดป้ายหาเสียงของส.ส.พรรคเพื่อไทยรายหนึ่ง
คัดลอกมาจาก http://breakingnews.Quickze.com
คงมีบางคนออกจะเห็นใจนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวเรือใหญ่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาไม่น้อย เนื่องจากในวันฉลองครบรอบวันเกิด 55 ปี แทนที่จะได้ฉลองอย่างชื่นมื่นมีความสุข กลับต้องมาถูกปะชาชนชาวคลองด่านยื่นหนังสือถึง ปปช. ให้เร่งดำเนินคดีทุจริตคลองด่าน 1.6 หมื่นล้าน ก่อนที่คดีจะหมดอายุความในอีก 3 เดือนข้างหน้า
และการที่มีรถกระบะติดป้ายหาเสียงของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วมขบวนอยู่ด้วย หลายคนมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากพรรคเพื่อไทยทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ต้องตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่น เป็นหูเป็นตาแทนพี่น้องประชาชนที่เลือกผู้แทนเข้าไปนั่งในสภา แต่จะแปลกและถือเป็นเรื่องผิดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างไม่น่าให้อภัย หากเห็นการกระทำที่ทุจริตผิดกฏหมายแล้วนิ่งเฉย
ต่อมาชาวบ้านตำบลคลองด่าน เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ผ่านทางนายวิทยา อาคมพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและประมวลผล สำนักงานป.ป.ช. เพื่อขอให้คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตก่อสร้างโครงการคลองด่านที่มีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช.เป็นประธาน เร่งพิจารณาคดีเพื่อส่งฟ้อง เนื่องจากคดีเหลืออายุความเพียง 3 เดือนเท่านั้น โดยคดีดังกล่าวมีผู้ถูกกล่าวหา ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป.ป.ช.เป็นนักการเมือง 3 คน นอกจากนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.มหาดไทย นายยิ่งพันธุ์ มนะสิการ อดีตรมว.วิทยาศาสตร์ฯ ยังรวมถึงนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรมว.วิทยาศาสตร์ฯ ที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ให้บริษัทเอกชนหาที่ดินก่อสร้างเอง เปิดโอกาสให้นายทุนที่กว้านซื้อที่ดินไว้แล้วนำที่ดินดังกล่าวมาขาย
“นอกจากนี้ ชาวบ้านยังอยากให้คณะกรรมการป.ป.ช.ตรวจสอบการทำหน้าที่ของอัยการสูงสุด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีแยกสำนวนส่งฟ้องข้าราชการกับนายวัฒนา อัศวเหม ในคดีทุจริตคลองด่านกรณีออกเอกสารสิทธิ์ทับที่สาธารณะ จนทำให้คดีความอายุความ ไม่สามารถเอาผิดข้าราชการกลุ่มดังกล่าวได้ ทั้งที่หากส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการกลุ่มดังกล่าวก็อาจถูกศาลตัดสินลงโทษเช่นเดียวกับนายวัฒนา” นายเฉลา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการยื่นหนังสือ ชาวบ้านตำบลคลองด่านยังใช้รถกระบะติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลด้วย ที่หน้าทำเนียบ บริเวณประตู 4 ฝั่งถนนพิษณุโลกด้วย โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ารถกระบะคันดังกล่าว ติดป้ายหาเสียงของส.ส.พรรคเพื่อไทยรายหนึ่ง
คัดลอกมาจาก http://breakingnews.Quickze.com
คงมีบางคนออกจะเห็นใจนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวเรือใหญ่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาไม่น้อย เนื่องจากในวันฉลองครบรอบวันเกิด 55 ปี แทนที่จะได้ฉลองอย่างชื่นมื่นมีความสุข กลับต้องมาถูกปะชาชนชาวคลองด่านยื่นหนังสือถึง ปปช. ให้เร่งดำเนินคดีทุจริตคลองด่าน 1.6 หมื่นล้าน ก่อนที่คดีจะหมดอายุความในอีก 3 เดือนข้างหน้า
และการที่มีรถกระบะติดป้ายหาเสียงของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วมขบวนอยู่ด้วย หลายคนมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากพรรคเพื่อไทยทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ต้องตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่น เป็นหูเป็นตาแทนพี่น้องประชาชนที่เลือกผู้แทนเข้าไปนั่งในสภา แต่จะแปลกและถือเป็นเรื่องผิดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างไม่น่าให้อภัย หากเห็นการกระทำที่ทุจริตผิดกฏหมายแล้วนิ่งเฉย
รัฐบาลสั่ง คุมเข้ม 38 จังหวัด ตั้งแต่ 15 ก.พ.
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้สั่งการเจ้าน้าที่คุมเข้ม 38 จังหวัดสีแดง อ้างกลุ่มคนเสื้อแดงแตกแยกอาจคุมกันเองไม่อยู่ แต่ไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากแต่ละจังหวัดมีคนชุมนุมแค่สิบคนร้อยคน
เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องรีบสนองนโยบายรัฐบาลโดยการสั่งตั้งด่าน 200 ด่านทั่วประเทศ ส่งกำลังทหาร ตำรวจ-พลเรือนลงพื้นที่ 38-40 จังหวัดๆ ละ 5 กองร้อย หลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เพื่อป้องกันผู้ชุมนุมในแต่ละจังหวัดแค่สิบคนร้อยคนตามคำสั่งรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
ด้าน พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 หนุนใช้ พรบ.ความมั่นคงคุมม็อบป่วน เพื่อส่งทหารร่วมตำรวจสกัดคนเสื้อแดง 38 จังหวัด บอกเป็นพื้นที่เสี่ยง
การที่รัฐบาลพยายามผลักดันกลุ่มคนเสื้อแดงให้เป็นม็อบป่วนเมืองทั้งที่กลุ่มคนเหล่านั้นเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามความยุติธรรม และนับวันก็ยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สื่อหลายแขนงออกมาแสดงความเห็นว่าที่ดำเนินการในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงใกล้วันตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านของครอบครัว อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก่อนหน้านั้นมีเรื่องอื้อฉาวจากหนังสือที่นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และจากคำพูดของนายกรัฐมนตรีออกมายอมรับว่าไม่ได้ตกลงกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่ตกลงกันไว้คือ 1.ไม่มีการนิรโทษกรรม “ทักษิณ” และ 2 ไม่คืนทรัพย์สินให้ “ทักษิณ” หลังจากนั้นบรรดาอดีต คตส. ยังออกมาพูดถึงกรณีนี้อีกด้วย จนบรรดาประชาชนและสภากาแฟออกมาทวงถามถึงเงินรางวัลนำจับ ที่ คตส.ออกระเบียบขึ้นมาว่า 1.9 หมื่นล้านของเงิน 7.6 หมื่นล้าน ใครจะได้รับ
เพราะเหตุนี้จึงทำให้คนบางกลุ่มมองว่าการที่รัฐบาลส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปยังพื้นที่สีแดง 38 จังหวัดหรือครึ่งประเทศของไทย ตามข้ออ้างดังกล่าว ความจริงแล้วเหตุผลเพื่อสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และอาจรวมไปถึงกระบวนการตัดสินคดีในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อหนาหูว่า “ทักษิณ” จะไม่ได้ 7.6 หมื่นล้านคืนแม้แต่บาทเดียว
และหากรูปการณ์ออกมาเช่นนั้น “ประชาชน” ครึ่งประเทศอาจออกจากบ้านไปทวงถาม รัฐบาลจึงต้องมีการตั้งด่านเพื่อสกัดกั้นกลุ่มประชาชนมือเปล่าด้วยกองกำลังเจาหน้าที่ทหาร-ตำรวจ จังหวัดละประมาณ 5 กองร้อย ทำให้เกิดเสียงถามกันกระฉ่องไปทั่วทุกภาคส่วน ด้วยเรื่องเก่ามาเล่าใหม่เนื่องจากยังไมได้รับคำตอบว่า 1.9 หมื่นล้าน ใครจะได้รับ?
เรื่องเก่ามาเล่าใหม่ "เตือนความจำอภิสิทธิ์"
"อภิสิทธิ์" ประกาศหากเป็นรัฐบาลจะแก้ "พ.ร.บ.ความมั่นคง" แนะ สนช. พักผ่อนได้แล้ว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พูดที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศ ประกาศชัดหากได้จัดตั้งรัฐบาลแม้ไม่ยกเลิกกฎหมายความมั่นคงฯแต่จะปรับแก้ใน 4 ประเด็นหลักให้ กอ.รมน.ถูกตรวจสอบได้และศาลปกครองอยู่เหนือกฎหมายนี้ ขณะเดียวกันก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับการผลักดันมหาวิทยาลัยหลายแห่งออกนอกระบบ
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเชิญไปพูดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยในช่วงค่ำ โดยในตอนหนึ่ง นายอภิสิทธิ์ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นเป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ บทบาทหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยเฉพาะที่จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ว่า ตอนนี้ สนช.ควรจะพักผ่อนได้แล้ว
"คำแนะนำของผมก็คือ สนช.ควรจะพักผ่อน รอให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง"
นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่าหากกฎหมายความมั่นคงผ่านการพิจารณาของ สนช. และพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคของเขาจะไม่ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว แต่จะแก้ไขในสาระสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.คำจำกัดความของคำว่า "ความมั่นคง" ที่ขณะนี้ดูเหมือนว่าครอบคลุมกว้างขวางเกินไป 2.ปรับแก้โครงสร้างองค์กรที่รับผิดชอบความมั่นคง (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน.) โดยต้องทำให้สามารถตรวจสอบได้ 3.ศาลปกครองจะต้องมีอำนาจเหนือกฎหมายนี้ และสามารถดูแลการละเมิดสิทธิ์ผู้บริสุทธิ์ได้ 4.จะพยายามปรับให้กฎหมายฉบับนี้ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญน้อยที่สุด
นอกจากนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังตอบคำถามกลุ่มคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับกฎหมายที่จะผลัก ดันให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งออกนอกระบบด้วยว่า ขณะนี้เกิดความสับสนมากในสังคม ทั้งที่ความจริงการเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยไม่ได้หมายความว่าจะต้องแปรรูป เท่านั้น อีกทั้งเขายังแสดงความเห็นต่างกับ นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย และเชื่อว่าแม้ สนช.จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวออกมา แต่ในหลวงก็คงจะไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย
คัดลอกมาจาก http://www.prachatai.com
ไม่มีอะไรจีรัง ยั่งยืน แม้แต่มธุรสวาจา ของ นายกรัฐมนตรี หรือที่สุภาษิตโบราณว่าไว้ "ลิ้นไม่มีกระดูก"
แถลงปิดคดี 7.6 หมื่นล้าน
ช่วงบ่ายวันนี้ (9) คณะทำงานอัยการคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัว 76,000 ล้านบาท จะยื่นคำแถลงปิดคดี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เช่นเดียวกับ นายสมพร พงษ์สุวรรณ ทนายความของ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ หนึ่งผู้มีรายชื่อถูกอายัดทรัพย์ในชั้น คตส.ซึ่งเป็นผู้คัดค้านคดีนี้ เตรียมยื่นคำแถลงปิดคดีในวันนี้เวลา 13.30 น. ซึ่งประเด็นที่ยื่นแถลงปิดคดีนั้นบางส่วน จะแตกต่างกับคำแถลงปิดคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ขณะที่ นายกิตติพร อดุยรัตน์ ทนายความของ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้คัดค้านคดีด้วย เปิดเผยว่า ในส่วนของลูกทั้งสองคนจะยื่นคำแถลงปิดคดีในวันพรุ่งนี้ (10)
ก่อนจะครบกำหนดการยื่นคำแถลงปิดคดี ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งประเด็นในคำแถลงปิดนั้นยืนยันว่า ทรัพย์สินจำนวน 40,000 ล้านบาทของทั้งสองที่ถูกยึดในชั้น คตส. ได้มาโดยสุจริต ไม่ใช่นอมินีหรือตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มาก่อนดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งทั้งสองไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
คัดลอกมาจาก http://breakingnew.Quickze.com
ประสาร ส.ว.สรรหา เสนอรัฐถอนประกันแกนนำ
วันนี้ (8 กุมภาพันธ์) นายประสาร มฤตพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) สรรหา เสนอที่ประชุมวุฒิสภา ให้รัฐบาลถอนประกันตัวแกนนำคนเสื้อแดงด้วยข้ออ้างก่อความวุ่นวาย
ความคิดนี้แน่ใจว่าคงมีประชาชนหลายฝ่ายออกมาทั้งให้การสนับสนุนและคัดค้าน เนื่องจากไม่แน่ใจว่าหากแกนนำชุดสามเกลอถูกถอนประกันตัว แกนนำรุ่นที่ 2 ของกลุ่มคนเสื้อแดง คือใคร และมีแนวทางเช่นไร จะยึดการเคลื่อนไหว สงบ สันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธตามแนวทางของสามเกลือหรือไม่ หรือว่าจะเป็นไปในแนวทางอื่น
และหากมีการถอนประกันตัวแกนนำจริง อาจจะยิ่งเป็นการเพิ่มดีกรีความร้อนแรงให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวหนักและรุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลรัฐบาลบริหารงานระบบ 2 มาตรฐาน หากมีการนำไปเปรียบเทียบกับคดีของคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง
พรุ่งนี้ (9 กุมภาพันธ์)เวลา 09.00 น. แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน นัดปรึกษาหารือกรณี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี และ พล.ต.ดร.ขัติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) นัดแถลงข่าว 13.00 น.
ในวันที่ (10 กุมภาพันธ์) เวลา 12.00 น.แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ประกาศเชิญชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ ชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน เพื่อทวงถามความคืบหน้าในคดีต่างๆ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)