วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553

ลาภ 1.9 หมื่นล้าน ใครจะได้รับ



กำลังเป็นเรื่องเด่นประเด็นร้อนสำหรับคดีอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้น "ชินคอร์ป" ธุรกิจของครอบครัว ให้กับ "เทมาเซค" ของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2549 ด้วยวงเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง " นัดฟังคำพิพากษา "ชี้ขาด" ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 13.00 น.

เรื่องนี้ทนายความของอดีตนายก “ทักษิณ” มีข้อแย้งในประเด็น 3 คตส. คือ นายแก้วสรร อติโพธิ นายกล้านรงค์ จันทิก และ นายบรรเจิด สิงคเนติ เป็นปฏิปักษ์กับอดีตนายกฯ ทักษิณ ย่อมมีความเอนเอียงในการสอบสวนคดี แต่นั่นไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2510 ทีมทนายความอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหาในคดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากร่ำรวยผิดปกติ ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีจำนวน 162 หน้า โดยระบุว่าข้อกล่าวหาของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) เลื่อนลอยไร้พยานหลักฐาน เป็นเพียงการตั้งข้อสันนิษฐาน คาดเดา และจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยไม่มีมูลความจริง ทั้งยังขัดแย้งกับเอกสารของทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังขัดแย้งกับคำเบิกความของพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงานอีกด้วย
กรณีการออกมาตรการที่ คตส. นำมาเป็นประเด็น ได้แก่

1. การแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิต ด้วยการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต

2. กรณีแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้ บมจ.ทีโอที จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบบัตรเติมเงิน ให้ บมจ.แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส (AIS) เป็นร้อยละ 20 ซึ่งจากเดิมที่ต้องจ่ายแบบอัตราก้าวหน้าในอัตราร้อยละ 25-30

3. กรณีแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 ปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เอื้อประโยชน์ SHIN และ AIS โดยแก้ไขให้ AIS เข้าไปใช้เครือข่ายร่วมผู้ให้บริการรายอื่นที่มีผลให้ AIS ไม่ต้องจ่ายเงินกว่า 18,970,579,711 บาท ให้กับ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม

4. กรณีอนุมัติโครงการยิงดาวเทียม IP STAR การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานลงวันที่ 27 ตุลาคม 2547 การอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทน ดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ เอื้อประโยชน์ SHIN และ บมจ.ชินแซทเทิลไลท์

5.กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่า กู้เงินธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงค์ จำนวน 4,000 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน และขยายเวลาปลอดการชำระหนี้จาก 2 เป็น 5 ปี เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์การพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่าจาก SATTEL นั้น

ทนายความชี้แจงได้มีการตรวจสอบแล้วว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้ทำให้หุ้นของบมจ.ชินแซทเทิลไลท์ มีราคาสูงขึ้นผิดปกติแต่อย่างใด แต่ราคาหุ้นยังคงขึ้นลงไปทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในอัตราที่ใกล้เคียงกันกับบริษัทอื่นๆ ตลอดเวลา
ส่วนรายละเอียดหากมีผู้สงสัยติดตามได้จาก
http://shincase.googlepages.com/indictmentinvolvingonais

ประเด็นนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเบิกความสอดคล้องกันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นจริงตามข้อกล่าวหาของ คตส. แต่อย่างใด

"คำแถลงปิดคดีของทนายความ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ยืนยันต่อศาลว่า หุ้นบริษัทเป็นของครอบครัวที่ได้มาจากการทำมาหากินโดยสุจริตด้วยน้ำพักน้ำแรงมาเป็นเวลาหลายสิบปีก่อนหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้ามาทำงานทางการเมือง

นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ทนายความของอดีตนายก “ทักษิณ” ตั้งข้อสงสัยกรณีที่ คตส. ออกระเบียบว่าด้วยการให้สินบนผู้ชี้เบาะแสทั้งเปิดเผยตัวและไม่เปิดเผยตัว จะได้รับผลประโยชน์ 25% จากมูลค่าทรัพย์สิน ทั้งที่ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 ที่เป็นคำสั่งแต่งตั้ง คตส.ไม่ได้ให้อำนาจในการออกระเบียบดังกล่าว

ประเด็นนี้ คตส. อ้างว่าเป็นการออกตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หากมีการยึดทรัพย์อดีตนายก “ทักษิณ” ทั้งหมด 7.6 หมื่นล้าน ตามที่มีข่าวออกมาหลายกระแสทั้งจากหน้าสื่อหลัก สื่อทางเลือก ว่าผู้ที่ได้รับสินบนจากเงินก้อนนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.9 หมื่นล้านบาท

ด้านนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธาน คตส.และนายสัก กอแสงเรือง คณะกรรมการฯ ต่างออกมายืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่องนี้เป็นการกล่าวเท็จทั้งหมด โดยการพยายามบิดเบือนข้อมูลเพื่อนำมาสร้างเป็นประเด็นการเมือง เนื่องจากระเบียบของ คตส. เรื่องการให้รางวัลกับผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลต่อ คตส.ในช่วงเวลานั้นระบุชัดเจนว่า จะให้รางวัลแก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสร้อยละ 25 แต่ให้ยกเว้นกับ คตส.ทั้งคณะ

ล่าสุดเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปอีกว่า หากคตส. ไม่ได้รับรางวัล 25 % ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฎิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 น่าจะมีเอี่ยวในรางวัลจำนวนมหาศาลนี้

ประกอบกับเหตุผลการออกระเบียบดังกล่าวของ คตส. ก็ยากที่จะปฏิเสธข้อกล่าวหาและเป็นธรรมดาที่จะมีผู้ตั้งข้อสงสัย ด้านทนายความ “ทักษิณ” ออกมาถามชัดเจนว่าสินบนยึดทรัพย์นี้ใครรับบ้าง?

คำถามนี้ได้แพร่กระจายไปตามหน้าสื่อต่างๆ อย่างรวดเร็ว และยังไม่มีผู้ที่เกี่ยวข้องในการยึดอำนาจ 19 กันยา ท่านใดออกมาปฏิเสธ จึงทำให้ประชาชนยิ่งเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้นไปอีก

ผู้เขียนได้ยินเสียงจากสภากาแฟพูดถึงสุภาษิตโบราณที่ว่า “กินที่ลับ คายในที่แจ้ง” แต่หากมีการ “ร่วมด้วยช่วยกันกินอย่างเป็นระบบ แล้วใครที่ไหนจะคายออกมา”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น