วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553
มุมมองพุทธปรัชญาชี้นำความจริง
ทำไม..จึงไม่เท่าเทียม..?
โดย ปรัศนีย์ สัจวิพากษ์
-----------------------------------------
ในยุคแรกของการมีมนุษย์และสังคมมนุษย์บนโลกใบนี้ คนเราเท่าเทียมกันตรงที่ต่างสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์ปุถุชนเช่นเดียวกัน ไม่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆบ่งบอกถึงความไม่เท่า นั่นคือคนเราเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ นับแต่ลืมตาดูโลก แต่แล้วเพราะอะไร ในกาลต่อมากลับมีกระแสความคิดว่าคนเราไม่เท่ากัน มีความแตกต่างกระทั่งแบ่งแยกเป็นหมู่เหล่าชนชั้นชัดเจน อย่างเช่นวรรณะ 4 ในสังคมอินเดียโบราณ เป็นต้น ทำไม ? เพราะอะไร ?
แนวคิดที่ใช้ตอบปัญหานี้
พุทธศาสนาตอบปัญหานี้ด้วยแนวคิดสักกายทิฏฐิ ซึ่งชี้ว่าการที่คนเรามองตนเองและผู้อื่นว่าแตกต่าง ไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียมนั้น เกิดจากการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนว่าเป็นเราเป็นเขาอย่างแบ่งแยก ไม่ใช่มนุษย์ที่สืบเชื้อสายมาจากมนุษย์เช่นเดียวกัน กระทั่งตั้งข้อรังเกียจในเผ่าพันธุ์ที่ไม่เหมือนตน นำไปสู่การดูหมิ่นเหยียดหยามกำจัดทำลายผู้อื่น
ทบทวนข้อมูล
ในอัคคัญสูตรได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของสังคมนุษย์โดยสังเขปว่า เมื่อเริ่มมีผู้คนเพิ่มมากขึ้น มีการแย่งชิงอาหารการกิน แสดงความเป็นเจ้าของและหวงแหนที่ดิน ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย เกิดความขัดแย้ง จำเป็นต้องแก้ไขความขัดแย้ง จึงสมมติให้ใครคนหนึ่งเป็นผู้นำ เขาได้ทำหน้าที่ตัดสินยุติความขัดแย้ง ผู้คนต่างพึงพอใจจึงสถาปนายศถาบรรดาศักดิ์ ยกย่องเชิดชูว่าเป็น ราชา ซึ่งหมายถึงผู้ที่สามารถทำให้ผู้คนเอิบอิ่มใจสุขใจ หรือเรียกว่ากษัตริย์ ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองดูแลเขตแดน เป็นชนชั้นสูงที่
เรียกว่า วรรณะกษัตริย์ มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง
คนที่ไม่ชอบทำมาหากิน ตื่นเช้ามาก็ถือภาชนะใส่ข้าวหรืออาหารเดินไปตามบ้านเรือนแหล่งชุมชน ตามตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าในเมือง เมื่อมีคนนำอาหารมาให้ เขาตอบแทนคนเหล่านั้นด้วยการให้ความรู้คำแนะนำพร่ำคำสอน เมื่อกลับสู่ที่วิเวก พวกเขาจะเฝ้าครุ่นคิดทฤษฎีท่องบ่นสาธยายสิ่งที่ค้นพบ พร้อมทั้งเขียนคัมภีร์บันทึกเอาไว้เผยแพร่ นานวันท่านเหล่านี้ก็ถูกยกย่องว่าเป็นพราหมณ์หรือนักบวช ที่เรียกว่า วรรณะพราหมณ์ มีหน้าที่ผลิตคำสอนชี้นำแนวทางก้าวเดินของคนและสังคม ตลอดจนกล่อมเกลาโน้มน้าวสังคมให้ยอมรับในความแตกต่างทางชนชั้นว่าถูกกำหนดมาเช่นนี้ เสมือนเป็นพรหมลิขิต ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ชาวบ้านทั่วไปที่ประกอบกิจกรรมการเกษตร ค้าขาย ทำมาหากินมีครอบครัวลูกหลาน ถูกจัดให้เป็นกลุ่มชนชั้นแพศย์ หรือวรรณะแพศย์ ส่วนผู้ที่เป็นกรรมกรยากจนหาเช้ากินค่ำ มีความเป็นอยู่ฝืดเคือง ถูกจัดให้เป็นวรรณะศูทร
สุดท้าย คนที่เกิดจากการแต่งงานข้ามชนชั้นวรรณะจะถูกเรียกว่าจัณฑาล เป็นคนชั้นต่ำสุดที่แทบไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ เพราะเป็นผู้ที่มีสายเลือดไม่บริสุทธิ์ มีความสับสนปนเปในเรื่องชาติตระกูลที่ได้ถือกำเนิดมา
การวิเคราะห์ข้อมูล
แนวความคิดสักกายทิฏฐิจะอธิบายว่าการที่มนุษย์มีความเข้าใจว่าคนเราไม่เท่ากันนั้น เกิดจากการยึดติดในสิ่งที่พวกเขาสมมติกันขึ้น ทั้งหน้าที่การงานและยศถาบรรดาศักดิ์ กระทั่งจัดแบ่งกันอย่างชัดเจน พร้อมทั้งไม่ยอมสมาคมเกี่ยวดองกันด้วยการแต่งงานข้ามชนชั้น ใครฝ่าฝืนกฎกติกาจะถูกประณามหยามหมิ่นอย่างรุนแรง ถูกจัดสรรให้เป็นชนชั้นต่ำสุดในสังคมทันที
ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ถูกบิดเบือนให้กลายเป็นไม่เท่า เพียงเพราะมีอาชีพการงานที่แตกต่าง ทั้งที่เป็นเรื่องปกติของสังคมซึ่งจะต้องประกอบด้วยกลุ่มคนที่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป เพื่อสามารถสร้างผลผลิตนำมาแลกเปลี่ยนชดเชยความไม่สมบูรณ์ของกันและกัน ก่อเกิดความสมดุลย์สงบสุข ทำให้สังคมแต่ละส่วนสถาบันก้าวเดินไปพร้อมๆกันได้ ความแตกต่างทางหน้าที่ไม่ควรถูกนำมากำหนดเป็นสถานภาพของคนอย่างแข็งตึงอย่างนั้น แต่ก็เป็นเช่นนั้นไปแล้ว กระทั่ง ณ วันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า อำ
มาตยาธิปไตย หรือ คณาธิปไตย
แท้ที่จริง ตัวตนของมนุษย์ทุกคนหากแยกชิ้นส่วนออกมาเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่เรียกรวมๆว่าขันธ์ 5 แล้ว ทุกคนก็ไม่มีตัวตนที่แท้จริง แม้แต่กายเนื้อที่กินอยู่หลับนอนนั่งเดินกันได้ทุกวันนี้(รูป)นั้น แท้ที่จริงหากแยกแยะองค์ประกอบออกมาก็จะเป็นเพียงธาตุ 4 คือดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มารวมกันเป็นรูปหรือร่างกายที่ยาวหนึ่งวาหนาหนึ่งคืบเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรที่บ่งบอกความเป็นเราเป็นเขา เป็นวรรณะใดๆที่แตกต่างเลย ที่เห็นว่าแตกต่างเช่นนั้นเป็นเพราะการยึดติดในสิ่งสมมติ คือยึดถือในธาตุทั้ง 4 ว่าเป็นเราเป็นเขาชื่อนั้นชื่อนี้ ซึ่งไม่ใช่ความจริงแท้หรือความจริงสูงสุด(ปรมัตถสัจจะ) แต่เป็นเพียงความจริงที่สมมติขึ้น(สมมุติสัจจะ)เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารระหว่างมนุษย์ ทว่ามนุษย์กลับไปยึดติดจริงจังไม่ปล่อยวาง ไม่นำพาว่าการยึดติดเช่นนั้นจะก่อให้เกิดความเกลียดชัง อยุติธรรม กดขี่ข่มเหง และเลือกปฏิบัติกับผู้คนอย่างไม่เป็นธรรมอย่างไร
การจัดแบ่งหน้าที่และเรียกขานกันว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทรนั้น เป็นความจริงที่ถูกสมมติขึ้น เพื่อประโยชน์ในการมอบภาระหน้าที่แก่คนในสังคม ตามลักษณะสถาบันหรือองค์กรที่มีภารกิจแตกต่างกันไป เพราะไม่มีใครหรือองค์กรใดสามารถทำหน้าที่ทุกอย่างได้ดีในคนๆเดียวหรือองค์กรเดียว ไม่ได้จัดแบ่งเพื่อจะบอกว่าใครเป็นชนชั้นสูงหรือต่ำทราม ที่ไม่ควรเกี่ยวข้องปะปนกันให้มัวหมองชาติตระกูล นำไปสู่การรังเกียจหรือยำเกรงซึ่งกันและกันเกินเหตุ จนไม่อาจสัมผัสแตะต้องกันได้
พุทธศาสนามีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างตรงกันข้าม ดังปรากฏคำสอนในอัคคัญญสูตรที่ว่า
“วรรณะใดก็ตาม ตำหนิธรรมของตนออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์ว่าจักเป็นสมณะ สมณะก็จะเกิดมีขึ้นจากวรรณะทั้ง 4 นี้แล เรื่องที่จะต่างหรือเหมือนกันก็เพราะธรรม ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐในหมู่ชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต” (อัคคัญญสูตร ข้อ 66)
หมายความว่าคนเราจะแตกต่างกันก็เพราะธรรม(การปฏิบัติตัว) จะเหมือนกันก็เพราะธรรม อย่างเช่นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาที่ออกจากบ้านมาบวชเป็นพระนั้น ต่างก็มาจากตระกูลหรือวรรณะต่างๆทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระในพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน เพราะได้ปฏิบัติตนตามแนวทางแห่งพุทธธรรมเช่นเดียวกัน ไม่มีความต่าง กล่าวคือมีศีลหรือกฎกติกาสังคมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน(สีลสามัญญตา) มีความคิดหรือมุมมองต่อชีวิตแบบเดียวกัน(ทิฎฐิสามัญญตา) และไม่เห็นด้วยกับทัศนะเดิมๆที่เคยยึดถือมา จึงละทิ้งความเป็นชนชั้นวรรณะต่างๆออกบวช ไม่คำนึงว่าในสังคมพระนั้นจะประกอบไปด้วยผู้คนวรรณะใดบ้าง ไม่รังเกียจที่จะอยู่ร่วมกับคนต่างวรรณะ จึงก่อเกิดเป็นสังคมแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมอย่างแท้จริงขึ้นในสังคมพระอริยสงฆ์
ในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดสูงส่งเพียงใด หากประพฤติตนทุจริตผิดศีลธรรมก็จะถูกตำหนิ ไม่มีวิญญูชนใดสรรเสริญว่าเลิศเลอสมบูรณ์แบบไปได้ และในที่สุดผลการกระทำทุจริตนั้นจะทำให้วรรณะนั้นตกต่ำไร้ความเจริญ ดังปรากฏข้อความว่า
“ไม่ว่าวรรณะใด ที่ฆ่าสัตว์เป็นปกติ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดหยาบคาย พูดเพ้อเจ้อ ละโมบ ปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นผิดเป็นปกติ ฯลฯ วิญญูชนติเตียนทั้งนั้น” (อัคคัญญสูตร ข้อ 52)
“ไม่ว่าวรรณะใด หากประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ เพราะการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าเมื่อสิ้นชีพจะเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต และนรก” (อัคคัญญสูตร ข้อ 67)
การเชื่อมโยงสู่ปัจจุบัน
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการถกเถียงเรื่องความไม่เท่าเทียมในอดีตเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว แต่ยังคงเป็นเรื่องเด่นประเด็นร้อนในสังคมไทยวันนี้ ที่อาจเติมเชื้อไฟแห่งความขัดแย้งให้ร้อนระอุยิ่งขึ้น เพราะการเลือกปฏิบัติของรัฐต่อคนแต่ละกลุ่มในหลายกรณี เช่น
1.การบุกรุกยึดครองพื้นที่ป่าสงวนของนายพล ข้าราชการ นายทุน และคนยากคนจนทั่วไป แต่คนจนติดคุก
2.การถ่วงเวลาไม่เร่งรัดดำเนินคดีกับเหล่าพันธมิตรที่ไม่ได้เคลื่อนไหวตามแนวทางสันติอหิงสา แต่เร่งรัดดำเนินคดีกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อต้านรัฐบาลโดยสงบปราศจากอาวุธ
3.ควบคุมสื่อสารมวลชนของรัฐและเอกชนทั้งโดยตรงโดยอ้อม เพื่อให้นำเสนอข่าวสารของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น
4.สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร แต่ขัดขวางและสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงด้วยกำลังทหารหน่วยรบติดอาวุธพร้อมสังหาร เหมือนบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม เป็นต้น
ตราบเท่าที่ยังมีมุมมองต่อผู้คนอย่างมีอคติ แบ่งแยกเป็นสีเหลือง-แดงชัดเจน และปฏิบัติต่อคนสองกลุ่มในมาตรฐานที่แตกต่าง ยึดมั่นในตัวตนอย่างอหังการมมังการ “เรา..พรรคพวกของเราต้องมาก่อน ประชาชนมาทีหลัง” มองผู้ไม่เห็นด้วยว่าเป็นศัตรู ไม่ใช่ประชาชนผู้มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องเอื้อเฟื้อดูแลอย่างเท่าเทียมเช่นกัน
ความเจ็บช้ำน้ำใจจะถูกตอกย้ำขยายวงให้กว้างออกไปยิ่งขึ้น พร้อมกับทางตันและหุบเหวแห่งความเสื่อม
นี่คือพิษสงของทัศนะอันบิดเบือนว่าคนไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นทางตันทางจิตวิญญาณ ปิดกั้นพัฒนาการแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ว่าอำมาตย์หรือยาจกก็ต้องยกระดับจิตให้ข้ามผ่านเช่นกัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น