วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553

พรรคร่วมผนึกกำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ


ณ เวลานี้เรื่องเด่นประเด็นร้อนคงหนีไม่พ้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดหลายวันมานี้บรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต่างพร้อมใจกันออกมาทวงสัญญาจากพรรคประชาธิปัตย์กันเป็นทิวแถว

และหากจะมองย้อนกลับไปในอดีตช่วงที่มีการพลิกขั้วย้ายข้างทางการเมืองจนส่งผลให้ประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ เบื้องหลังการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กทั้ง 5 พรรค มีเงื่อนไขสำคัญอันหนึ่ง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในครั้งนั้นแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับในเงื่อนไขโดยดุษฏี จึงเป็นเหตุให้สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

แต่เมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาลสมใจหลายๆ ฝ่าย มีการขยับจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็เกิดอาการยื้อจากคนในพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบกับพรรคเพื่อไทยไม่เข้าร่วมสังฆกรรมด้วย รวมทั้งพันธมิตรฯ ออกมาปรามเป็นระยะ ทำให้ประเด็นนี้ต้องชะงักไปชั่วคราว กระทั่งผ่านมา 1 ปีเศษ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังไม่คืบหน้าและยังคงเป็นปัญหาคอยตามรบกวนรัฐบาลทุกครั้งที่มีการนำประเด็นนี้ขึ้นมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่โรงแรมสยามซิตี้ แกนนำชาติไทยพัฒนา นำโดย นายบรรหาร ศิลปอาชา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ และนายนิกร จำนง ได้นัดปรึกษาหารือกับแกนนำพรรคภูมิใจไทย มีนายเนวิน ชิดชอบ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร เรื่องการแก้ รธน.

แว่วมาว่าใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก่อนที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เปิดแถลงข่าวร่วมกันว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 94 ประเด็นที่มาของ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และมาตรา 190 ประเด็นการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

ตามกติกาของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 291 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ว่า ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาฯ มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันมี ส.ส.ในสภาฯ 474 คน เสียง 1 ใน 5 ก็เท่ากับ 95 คน ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจ-ไทยชาติพัฒนา และพรรคกิจสังคม มี ส.ส.รวมกัน 103 คน ถือว่าเพียงพอ

แต่หลังจากพรรคร่วมขยับเรื่องนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนกว่า 14 ล้าน 7 แสนกว่าคนที่ได้ร่วมกันลงประชามติเห็นชอบให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ออกมาแสดงจุดยืน และกดดันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งของตัวเอง เพื่อยับยั้งและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของนักการเมืองด้วยเหตุผล 3 ประเด็นสำคัญ คือ

1.คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือลดพระราชอำนาจและโครงสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับของสถาบันพระมหากษัตริย์
2.คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดให้กับนักการเมืองและพวกพ้อง และ
3.คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง

ในแถลงการณ์ระบุว่า นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลมีความพยายามในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็น 7 มาตรา ได้แก่
ประเด็นแรก เรื่องระบบเลือกตั้งจากแบ่งเขตเรียงเบอร์เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว และระบบบัญชีรายชื่อให้เป็นเหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องได้แก่ มาตรา 93, 94, 95, 98, 103 และ 109
ประเด็นที่สอง การแก้ไขมาตรา 190 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาของฝ่ายบริหาร

กลุ่มพันธมิตรฯ ให้เหตุผลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ปรากฏเป็นข่าวครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ต่อพรรคการเมืองและรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและอาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสอดแทรกมาตราอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจและโครงสร้างของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อนำไปสู่การปกครองในรูปแบบอื่นในนาม "รัฐไทยใหม่" ในอนาคต เพราะเหตุนี้พันธมิตรฯ ขอยืนยันที่จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างถึงที่สุด

ท่ามกลางกระแสการคัดค้านของพันธมิตรฯ สวนดุสิตโพลได้ออกมาขานรับ ประชาชน 54.55 % เห็นด้วยให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ร้อยล่ะ 64.48 เชื่อการเมืองขัดแย้งไม่จบ

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการจัดประชุมที่จังหวัดกระบี่ แต่ยังไร้ข้อสรุปเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมายอมรับว่า การแก้เขตเลือกตั้งเป็นข้อตกลงของพรรคร่วม ถ้าไม่แก้รัฐบาลก็คงอยู่ไม่ได้

ล่าสุดนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล ได้ออกมายืนยันจะไม่เพิ่มประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณไม่ได้ขู่ ส.ส.ประชาธิปัตย์เรื่องหากไม่แก้รัฐธรรมนูญตามข้อตกลงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็เตรียมยุบสภาได้เลย

ประชาชนรอลุ้นมาหลายวันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทำเช่นไร ระหว่างยึดถือคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับบรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล หรือจะตามใจพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ส่งสัญญาณออกมาชัดเจนว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ กลุ่มเสื้อเหลืองจะระดมพลออกมาประท้วงเมื่อนั้น

ล่าสุดเย็นวันที่ 26 มกราคม พรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติออกมาแล้วว่า มติพรรคจะไม่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ได้ยินแบบนี้แล้วบรรดาแกนนำพรรคร่วมที่ได้รับคำมั่นสัญญาก่อนร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์จะทำอย่างไรต่อไป ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ได้แต่รอดูว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะยอมตามใจ ฯพณฯ หรือครั้งนี้จะเป็นการลุกขึ้นมาทวงสัญญาอย่างจริงจัง โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น