วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ร้องเพลงชาติ ไทยสามัคคี ไทยเข้มแข็ง



การที่รัฐบาลเร่งรณรงค์ให้คนในชาติสามัคคีสมานฉันท์ด้วยกิจกรรมการร้องเพลงชาติเวลา 18.00 น. ทั่วประเทศ ทุกจังหวัดต่างระดมผู้คนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเข้มแข็ง


ระดับผู้ใหญ่แต่ละจังหวัดสั่งการให้ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษามาร่วมกิจกรรมเพื่อส่งภาพแห่งความสามัคคีออกสู่สายตาประชาชนและถ่ายทอดผ่านสื่อกระแสหลัก และหลายจังหวัดก็ดำเนินการกันไปเรียบร้อยด้วยดีไม่มีปัญหา


มองดูเป็นเรื่องง่ายๆ ทำได้ไม่ยาก แต่ถ้าจะประเมินในแง่ความสำเร็จเชิงคุณภาพ คือทำให้คนไทยสามัคคีกันได้จริงหรือไม่นั้น บอกได้เลยว่าเป็นเรื่องยาก สาเหตุเพราะ

1.เราไม่ยอมเข้าใจว่าสามัคคีคืออะไร ทั้งที่ต่างก็รู้ดีว่า คือการทำอะไรในทิศทางเดียวกัน เดินไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง มีเป้าหมายเดียวกัน พร้อมที่จะทำสิ่งดีงามเพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองเช่นกัน นี่ก็พูดยากอีกแหละ


เพราะแต่ละคนแต่ละฝ่ายต่างกล่าวอ้างว่าตนเองเคลื่อนไหวทำอะไรต่างๆ ที่ผ่านมาก็เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ไม่มีใครสักคนออกมายอมรับว่าตนเองกำลังทำลายความสงบสุขของประเทศชาติ มีแต่คนทำดีทำถูกด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครเชื่อใคร ไม่มีใครฟังใคร วุ่นวายสับสนกับกระแสความคิด ความเชื่อที่ไม่มั่นใจในคำตอบ หรือเชื่ออย่างไม่ใช้ดุลยพินิจ เดินกันไปคนละทิศละทาง


ดังนั้น โอกาสจะลดราโอนอ่อนเชื่อมประสานก็ถูกปิดประตูตอกผาโลงกรวดน้ำคว่ำขันเรียบร้อย

Top of Form
2.เราปล่อยให้ผลประโยชน์ส่วนตนครอบงำจนพิการ เราอาจจะกลายเป็นกบในกระลาที่พิการ ตาบอดหูหนวกสมองมีรอยหยักหลงเหลือเพียงเล็กน้อย เพราะมัวแต่จ้องคิดหากลยุทธ์ทำลายล้างคนไทยด้วยกัน ไม่ได้พัฒนาความคิดในทางสร้างสรรค์ จึงไม่ใส่ใจว่าผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่หรือประเทศชาติจะพังพินาศอย่างไร



นี่ก็พูดยากเข้าใจยากอีกนั่นแหละ คนส่วนใหญ่คือใคร ก็คือคนจนไง ขายแรงงานไปสิ พอถูกเลิกจ้างก็ไปแจ้งสำนักงานประกันสังคม เดี๋ยวเขาก็จ่ายเงินให้เดือนละพันกว่าบาทเป็นค่ารถเมล์หางานใหม่ ทนๆ กันไป อยู่ได้ไม่เกินร้อยปีเดี๋ยวก็ตาย จะมาเรียกร้องอะไรกันนักหนา


พูดง่ายเน๊าะ..แต่ใครเขาจะพอใจกับผลประโยชน์แค่นี้


ขอประทานโทษเถอะ..คนจนก็มีกิเลส ไม่ใช่นักบวชจะได้กินถั่วกินงา นั่งหลับๆ ตื่นๆ ค้นหาหนทางดับกิเลสไปวันๆ



ถึงเป็นนักบวชก็ควรได้รับการจัดสรรผลประโยชน์อย่างสมเหตุสมผลควรแก่สมณเพศ ถามว่าที่ผ่านมาเราเคยมีรัฐบาลที่มุ่งแบ่งปันจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมบ้างไหม ถ้าเผื่อจะมีต่อไปนั่นแหละ..สามัคคีจึงจะเกิด

3.ประเทศชาติเป็นของคนส่วนน้อยหรือเปล่า กฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการบ้านเมืองถูกกำหนดโดยคนส่วนน้อยที่ไม่เคยลิ้มรสความยากลำบากในการหาอาหารใส่ท้องให้มีชีวิตรอดไปวันๆ คนส่วนใหญ่คือแรงงานราคาถูก ไม่มีสิทธิ์กำหนดอนาคตตนเอง มีแค่สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทน ซึ่งก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตัวแทนพวกเขาอย่างจริงจัง



กี่ปีกี่รัฐบาลปัญหาแรงงานก็ยังเหมือนเดิม คนขายแรงยังคงถูกหลอกเหมือนเก่า ยังเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งในการดึงดูดโน้มน้าวต่างชาติให้มาลงทุนบ้านเรา เป็นความภาคภูมิใจ แข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นแรงงานที่ก้มหน้าก้มตาทำงานไม่มากเรื่องมีความสมัครสมานสามัคคีกันดียิ่งประเสริฐ



ถ้าคนส่วนใหญ่สามัคคีเพื่อคนส่วนน้อยได้ประโยชน์นั่นแหละ..เป็นความถูกต้อง แล้วใครจะอยากสามัคคี เรื่องทำนองนี้คนที่อยู่ดีกินอร่อยทุกมื้อเขาเห็นเป็นเรื่องตลก เหมือนคนไม่ประสาต่อโลกอันขาดแคลนไร้ความเป็นธรรม มักจะมองการทำกิจกรรมแบบมีอุดมการณ์เพื่อคนส่วนใหญ่เป็นเรื่องตลกบ้าบอ ทำไปทำไม เพื่ออะไร เรื่องจะหวังให้พวกเขามาดิ้นรนเต้นแร้งเต้นกาเรียกร้องความเป็นธรรมนั้นคงยาก ไม่มีใครอยากเกี่ยวกับใคร คนรวยย่อมไม่ปรารถนาสมานฉันท์กับคนจนนั่นแล



เขาเอื้อเฟื้อคนจนบ้างเป็นครั้งคราวก็เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีในสายตาชาวโลก บทประชาสงเคราะห์จังหวัดในอดีตเที่ยวแจกข้าวของคนจน เมื่อพวกเขาประสบภัยพิบัติหรือเมื่อพวกเขาดิ้นรนมาร้องเรียนผ่านสื่อแบบตัวใครตัวมัน


ทั้งที่ควรจะกำหนดเป็นนโยบายที่ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกัน บังคับให้รัฐต้องทำในมาตรฐานเดียวกัน วิธีปฏิบัติของรัฐหรือรัฐบาลนี่แหละ คือตัวบ่งชี้ว่าเขาทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของใคร ที่หาเสียงเอาไว้นั้นพอได้เป็นรัฐบาลเขาทำอย่างไรหรือไม่ แค่นี้ก็ตาสว่าง

4.เราคือชนชาติคนหัวดื้อตลบแตลงที่สุด เรากล่าวอ้างไปทั่วโลกมาตลอดว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ไม่ไยดีกับการแก้ปัญหาโดยระบอบประชาธิปไตย ชอบใช้วิธีพิเศษ แบบโบราณดั้งเดิมเมื่อหกเจ็ดร้อยปีที่แล้ว



เราอยากเป็นคนทันสมัย แต่เวลามีปัญหาเรากลับหันไปขุดค้นเอาวิธีโบราณมาใช้แก้ปัญหา เราหลอกตัวเองไม่พอยังหลอกชาวโลกไปทั่ว ช่างกล้าเน๊าะ.. เพราะบ้านเรายังเต็มไปด้วยเจ้าลัทธิทางการเมืองมากมายหลากหลายสำนัก ดูเหมือนแต่ละสำนักต่างบูชายึดถือเจ้าลัทธิตนเองแบบไม่ยอมฟังใคร ฉันถูก ฉันดี คุณมันแย่ใช้ไม่ได้ กลายเป็นพวกรู้มากหัวดื้อชอบเถียงคอเป็นเอ็น เถียงกันไม่ตกฟากไม่เลิกรากันสักที



ทั่วโลกเขามีระบอบประชาธิปไตยเอาไว้เพื่อหาข้อยุติปัญหาด้วยเสียงข้างมาก แต่คนไทย..ไม่ใช่ หาว่าพวกมากลากไปซะงั้น รัฐบาลอ่อนแอก็ว่าไร้น้ำยาไม่มีกึ๊น ปัญญาอ่อน แบบนี้ใครก็เป็นนายกได้ พอได้รัฐบาลเข้มแข็งก็ว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาซะอีก ทำไมไม่มานั่งเถียงกันให้จบแล้วเขียนตำราปกครองประเทศสักเล่ม จะได้ใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานเดียวกัน


ท่านศาตราจารย์ ดอกเตอร์ด้านรัฐศาสตร์ ด้านกฎหมาย รวมทั้งสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็มีอยู่เกลื่อนประเทศ ระดมสมองกันเข้าไปสิ ทำแบบใสซื่อจริงใจตรงไปตรงมา อยากเห็นรัฐบาลแบบไหน อยากให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแบบไหนถึงจะเหมาะสมครับดี..ก็ว่ากันไป


เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมากำหนดกฎกติกาให้เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย ไม่ปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มหรือพรรคการเมืองบางพรรคและข้าราชการบางส่วนกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลกันง่ายๆ ไร้กฎเกณฑ์อย่างที่ทำกันมา (สร้างเงื่อนไขนำไปสู่การปฏิวัติ) ทั้งที่รู้ว่ามันผิดกฎหมาย ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ


อ้อ..พอเข้าใจ นักวิชาการเป็นข้าราชการต้องทำตามนโยบายผู้บังคับบัญชา (บางท่าน) ว่าอะไรก็ว่าตามกัน ลงเรือลำเดียวกันไม่ควรเอาเท้าราน้ำว่างั้นเถอะ


เราบริหารแบบไทยๆ แล้วจะอยากทันสมัยกะเขาทำไม ถ้าคิดแบบนี้ทำไมไม่ ปิดประเทศซะ ถ้ายังหัวดื้อตลบแตลงเป็นศรีธนญชัยกันอยู่อย่างนี้ เรียกร้องให้ดิ้นตายก็คงไม่ได้ความสามัคคี


ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายหันมาทบทวนฟื้นฟูจริยธรรมพื้นฐานในใจตนเองที่ขาดหายไปนานแล้ว คือความเมตตา ไม่ว่าสังคมไหน ชนชาติใด นับถือศาสนาอะไร ต่างก็ดำรงอยู่อย่างผาสุกได้เพราะผู้คนปฏิบัติต่อกันอย่างมีเมตตา


มองให้เห็นความจริงในทุกเรื่อง แก้ไขปัญหาที่สาเหตุอย่างแท้จริง หันมาปรับจูนความคิดทางการเมืองกันให้ได้ ยอมรับนับถือในหลักการยุติความขัดแย้งด้วยเสียงส่วนใหญ และยอมรับในความจริงที่ว่าทุกคนมีความทุกข์ ปรารถนาความสุขเช่นกัน จำเป็นต้องเฉลี่ยผลประโยชน์เพื่อบำบัดทุกข์ สร้างและกระจายความสุขไปยังเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งประเทศอย่างมีมาตรฐานทั่วถึงกัน ความสามัคคีจึงจะเกิดขึ้นได้ และจะเป็นปัจจัยผลักดันประเทศให้ก้าวไปสู่ความทันสมัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน คำถามที่ยิ่งใหญ่และโหยหาคำตอบมาตลอดกาลก็คือคุณกล้าพอไหม ที่จะต่อสู้เพื่อเฉลี่ยผลประโยชน์แบ่งปันความสุขให้คนส่วนใหญ่
บทความโดย มนต์ เมืองมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น