วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ตำรวจยืนยันอำนาจห้ามอริสมันต์และคนเสื้อแดงเข้าพื้นที่ชะอำ-หัวหิน


เมื่อวันที่ 20 ต.ค ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.สัญจร ที่โรงแรมดุสิตธานี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ในวันนี้ ตนจะไม่นำกลุ่มคนเสื้อแดงบุกไปก่อกวน แต่จะมีคนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง เข้าสังเกตการณ์และในวันที่ 23 ต.ค.


ตนจะนำคนเสื้อแดงไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้นำอาเซียน กรณีถูกเจ้าหน้าที่ ใช้ความรุนแรงทำร้ายที่พัทยา เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าจะไม่มีใครสามารถห้ามได้ ตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ขู่เอาไว้ เพราะขณะนี้ ตนได้เดินทางไปอยู่ที่หัวหินเรียบร้อยแล้ว


ขณะเดียวกัน ก็ไม่รับปากว่าการยื่นหนังสือในครั้งนี้จะเกิดความรุนแรงหรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งในวันที่ 21 ต.ค. แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง จะมีการประชุม เพื่อกำหนดยุทธวิธีที่จะเคลื่อนขบวนอีกครั้ง


ด้าน พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ-ทหาร ได้มีการซักซ้อมแผน ตามประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อเตรียมพร้อมรักษาความสงบเรียบร้อยการประชุม ค.ร.ม.ในวันนี้ และการประชุมอาเซียนแล้ว โดยหน่วยงานด้านการข่าวได้รายงานว่า ยังไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด
ข่าวจาก tv5 New


วันที่ 22 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันอำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ห้ามนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง และคนเสื้อแดงเข้าพื้นที่หัวหิน- ชะอำ แต่ทั้งนี้ไม่ได้พูดถึงกรณีเสื้อสีอื่นซึ่งอาจจะมีคนเสื้อแดงกลายพันธุ์แฝงตัวเข้าไป

ชำแหละ พ.ร.บ. ความมั่นคง จาก konthaiUK

มาตราใน พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ….
มาตรา 9 ให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เรียกชื่อโดยย่อว่า “กอ.รมน.” เป็นหน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน มีหน้าที่รับผิดชอบบังคับข้าราชการ การดำเนินงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และอนุมัติแผนแม่บทหรือแผนปฏิบัติการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร


มาตรา 10 ให้กองอำนวยการรักษาความั่นคงภายในมีบทบาทเป็นองค์กรกลางในการอำนวยการและประสานการปฏิบัติ ในการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงภายในของรัฐ และวาระเร่งด่วนแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติการแบ่งงานภายในของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในให้จัดทำเป็นกฏกระทรวง
มาตรา 24 เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีภารกิจในการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร และให้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน แก้ไข ปราบปรามระงับยับยั้งการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร การฟื้นฟู และการช่วยเหลือประชาชน
ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเป็นเจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร และอาจมีคำสั่งแต่งตั้งคณะบุคคล หรือบุคคลเป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน หรือเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความั่นคงในราชอาณาจักร
ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในอาจมอบหมายให้ผู้อำนวยรักษาความมั่นคงภายในภาคหรือผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด หรือกรุงเทพมหานครเป็นผู้ใช้อำนาจตามวรรคสองแทน และให้ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง

ให้หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุน หรือกระทำการใดๆ เมี่อได้รับการร้องขอจากเจ้าพนักงาน

มาตรา 25 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรงมากขึ้น ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีอำนาจออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้
(1) ห้ามบุคคลใดนำอาวุธที่กำหนดในกฏกระทรวงออกนอกเคหสถาน
(2) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
(3) ห้ามมิให้การชุมนุม หรือมั่วสุมกัน ห้ามการแสดงมหรสพ ห้ามการโฆษณา เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นการชักชวนหรือยั่วยุให้มีการกรำความผิดกฏหมาย
(4) ห้ามให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น
(5) ให้บุคคลใดนำอาวุธที่กำหนดในกฏกระทรวงมามอบไว้เป็นชั่วคราวตามความจำเป็นโดยการส่งมอบ การรับมอบ และการดูแลรักษาอาวุธดังกล่าวให้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่เห็นสมควร
(6) ให้เจ้าของกิจการ หรือผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในกิจการ หรือการทุจริต ซึ่งมีพนักงานหรือลูกจ้าง หรือบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการ หรือการจัดการธุรกิจ จัดเก็บ และเก็บประวัติและแจ้งการย้ายเข้าและการย้ายออก การเลิกจ้าง และแจ้งพฤติการณ์ของบุคคลดังกล่าวให้เจ้าพนักงานทราบ
(7) ออกคำสั่งให้การซื้อขายใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจใช้กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรต้องรายงาน หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกำหนด
(8) ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจเช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ของทหารจะกระทำได้เพียงใดให้เป็นไปตามเงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฏอัยการศึก

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติของเจ้าพนักงาน หรือมอบหมายให้เจ้าพนักงานกำหนดพื้นที่ และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

เมื่อการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรยุติลง ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประกาศยกเลิกข้อกำหนดตามมาตรานี้โดยเร็ว

มาตรา 26 เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้มีประสิทธิภาพ ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในออกประกาศให้เจ้าพนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) จับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นภัยความมั่นคงในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับการกระทำเช่นว่านั้น
(2) ดำเนินการปราบปรามบุคคล กลุ่มบุคคล หรือกลุ่มองค์กรที่ก่อให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร
(3) ออกหนังสือสอบถาม หรืออกคำสั่งเรียกบุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงาน หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐานใด เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร
(4) ตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ เคหสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่ใดๆ ตามความจำเป็นเมื่อมีเหตุสงสัยตามสมควรว่ามีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด หรือได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร
(5) เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น เมื่อมีเหตุสงสัยว่ามีบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะก่อให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรหลบซ่อนตัวอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด หรือได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำเช่นว่านั้น หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานลงโทษผู้กระทำความผิดได้ เมื่อมีเหตุอันเชื่อได้ว่าหากไม่รีบดำเนินการบุคคลนั้นจะหลบหนี หรือทรัพย์สินจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
(6) ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสาร หรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

มาตรา 27 ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามประกาศในมาตรา 26 (1) ให้เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หรือศาลอาญาเพื่อขออนุญาตดำเนินการ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วให้เจ้าพนักงานจับกุม และควบคุมตัวได้ไม่เกินเจ็ดวัน และต้องควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนดไว้ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขังทัณฑสถาน หรือเรือนจำ โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในพระราชอาณาจักร ให้เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาล เพื่อขยายระยะเวลาการควบคุมตัวต่อได้อีกคราวละเจ็ดวัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกินกว่าสามสิบวัน เมื่อครบกำหนดแล้วหากจะควบคุมตัวต่อไปให้ดำเนินการตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้เจ้าพนักงานจัดทำรายงานเกี่ยวกับการจับกุม และ ควบคุมตัวบุคคลนั้นเสนอต่อศาลที่มีคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง และจัดทำสำเนารายการนั้นไว้ ณ ที่ทำการของเจ้าพนักงานเพื่อให้ญาติของบุคคลนั้นสามารถขอดูรายงานดังกล่าวได้โดยตลอดระยะเวลาที่ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้
การร้องขอต่ออนุญาตต่อศาลตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการขอออกกฏหมายอาญาตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 30 เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมข่าวสาร หรือป้องกันการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด หรือผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานร่วมฟังการสอบสวน หรือเรียกสำนวนการสอบสวนคดีอาญามาตรวจดูได้

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแต่งตั้งเจ้าพนักงานร่วมฟังการสอบสวน หรือเรียกสำนวนการสอบสวนคดีอาญามาตรวจดูได้

มาตรา 31 ในกรณีที่มีการกระทำอันเป็นภัยความมั่นคงในราชอาณาจักร ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้ต้องหาคนใดได้กระทำความผิดดังกล่าวเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมีเหตุที่ไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคนใด ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสอบสวนสำหรับผู้ต้องหาคนนั้น พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน

ถ้าผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเห็นชอบด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติแทนการถูกฟ้องคดีโดยให้ผู้ต้องหาคนดังกล่าวเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน และจะกำหนดเงื่อนไขให้มารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นครั้งคราวตามที่กำหนดภายหลังการอบรมแล้วด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดระยะเวลาที่ให้มารายงานตัวเกินหนึ่งปีไม่ได้

การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติแทนการฟ้องร้องคดีตามวรรคสอง จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ต้องหายินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว และเมื่อผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้ว จะฟ้องเป็นผู้ต้องหาสำหรับการกระทำที่ต้องหานั้นอีกไม่ได้

มาตรา 36 ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือการกระทำตามพระราชบัญัญัตินี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฏหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฏหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

มาตรา 37 เจ้าพนักงาน และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ในการระงับ หรือป้องกันการกระทำผิดกฏหมายหากเป็นการกระทำที่สุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฏหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและการสูญหายของบุคคล ร่วมกับ องค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย หรือ Amnesty International (Thailand) จัดสัมมนาเรื่อง “ชำแหละร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ…” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายและเนื้อหา ดังนี้
-ไพโรจน์ พลเพชร
เลขาธิการสมาคมสิทธิและเสรีภาพเพื่อประชาชน

ขณะนี้รัฐบาลมีกฎหมายความมั่นคงอยู่แล้ว 2 ฉบับ คือ กฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ที่แก้ไขเมื่อปี 2546 เพิ่มเติมเรื่องภัยคุกคาม และพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การออกพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ถ้าพูดตรงไปตรงมาคือการเปิดบทบาทให้กองทัพเข้ามาจัดการบ้านเมืองได้หลายเรื่อง เช่น มาตรา 9 ให้จัดตั้งกอ.รมน. มาตรา 10 ให้กอ.รมน.จัดการเรื่องความมั่นคงทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติอย่างเต็มที่ ทั้งที่มีกฎหมายที่จะประกาศใช้ตรงไหนก็ได้ ห้ามการชุมนุมได้อยู่แล้ว
ขอบเขตความมั่นคงในราชอาณาจักรหรือภัยคุกคามกว้างมาก เป็นความมั่นคงในทรรศนะที่แปลก ให้มีอำนาจจัดการทั้งในยามปกติและไม่ปกติ ซึ่งพ.ร.บ.นี้สร้างบทบาทให้กองทัพมีอำนาจล้น และตรวจสอบไม่ได้ ถือว่าท้าทายหลักนิติธรรมของประเทศอย่างมาก ขัดต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน หากโครงการของรัฐที่ประชาชนได้รับความเสียหายมาเรียกร้องจะถือว่ากระทบต่อความมั่นคงหรือไม่

พ.ร.บ.นี้ยังขัดกับการกระจายอำนาจ เป็นสิ่งย้อนยุค ผบ.ทบ.เป็นผู้มีอำนาจและใช้ดุลยพินิจสูงมาก แม้นายกฯจะเป็นประธานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน แต่ไม่มีอำนาจ จึงไม่ควรออกกฎหมายในยุคนี้ ควรประเมินการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่าใช้ได้หรือไม่ ไม่ใช่รวบอำนาจให้กอ.รมน. กองทัพบก เพราะเป็นการสร้างอำนาจซ้อนรัฐ

ยิ่งรัฐบาลชุดใหม่อ่อนแอเพราะเป็นรัฐบาลผสม กอ.รมน.จะมีบทบาทสูงเรื่องความมั่นคง ผมไม่เห็นด้วยที่จะออกกฎหมายนี้
-นฤมล ทับจุมพล
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เมื่อเทียบพ.ร.บ.นี้กับต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ และอิสราเอล ประเทศอื่นมีกฎหมายรักษาความมั่นคงภายในเพราะกลัวภัยคุกคาม ภัยคอมมิวนิสต์และทำกันมา 4 ทศวรรษที่แล้ว แต่การออกกฎหมายนี้ของไทยไม่ใช่ภัยก่อการร้าย แต่พยายามรักษาโครงสร้างของกอ.รมน.ไว้ หางานหาพื้นที่ให้ทำ เท่ากับรื้อฟื้นความมั่นคงแบบอำมาตยาธิปไตย
พ.ร.บ.นี้กินพื้นที่มากมาย ทั้งการจับกุมสอบสวน ห้ามออกนอกเคหสถาน จำกัดการพูดแสดงความเห็น การชุมนุม ไม่มีหลักการว่าออกกฎหมายโดยอะไรและเสนออย่างกว้าง พ.ร.บ.นี้จึงไม่ถูกหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง
รัฐบาลนี้ไม่ชอบธรรมเพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาออกฎหมายเช่นนี้ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันวิจารณ์เรื่องนี้ให้มากที่สุด เพราะแม้แต่ปัญหาเขื่อนปากมูล ชาวบ้านจะเข้ามาเจรจากับนายกฯที่กรุงเทพฯ แต่ถูกรถถังล้อม มีการจับคนขับรถเพราะกลัวจะไปรวมกับกลุ่มต้านคมช. ขนาดยังไม่มีกฎหมายนี้ท่าทีทหารยังทำร้ายประชาชนมากอยู่แล้ว
-ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พ.ร.บ.ฉบับนี้คัดลอกพ.ร.ก.ฉุกเฉินมา ซึ่งพ.ร.ก.จะใช้เมื่อเกิดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทหารมีอำนาจเข้ามาได้ และดำเนินการได้เฉพาะพื้นที่ แต่พ.ร.บ.นี้ไม่ต้องประกาศ เพราะมีอำนาจทันทีทั่วประเทศ และสามารถประกาศเคอร์ฟิวไม่ให้ประชาชนออกนอกเคหสถานได้
ส่วนการปราบปรามกลุ่มบุคคลก็คัดลอกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเช่นกัน ที่สำคัญพ.ร.บ.นี้ได้ตัดฝ่ายตุลาการ ศาลปกครองออกไปจากการตรวจสอบ ประชาชนไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้หากถูกละเมิด เท่ากับไม่มีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย ทุกอย่างขึ้นกับผบ.ทบ. มีมาตรา 32 ที่ระบุว่าการรักษาความมั่นคงภายในจะคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่ก็ไม่มีมาตรการตรวจสอบว่าจะคุ้มครองประชาชนได้จริง ทุกอย่างเป็นเรื่องดุลยพินิจ
16 ปีที่ผ่านมา เมื่อปี”34 รสช.ยังไม่ออกกฎหมายขนาดนี้ รัฐบาลไม่ควรมีกฎหมายลักษณะนี้เพราะไม่เกิดประโยชน์ ฝ่ายความมั่นคงจะรักษาความมั่นคงแต่ไม่สอดคล้องวิถีประชาธิปไตย ท่านต้องไม่ลืมว่าตอนทำรัฐประหารใช้ชื่อว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ พ.ร.บ.นี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เพราะผบ.ทบ.มีอำนาจนิติบัญญัติและใช้อำนาจเอง ขัดกับหลักอำนาจซึ่ง 3 ฝ่าย คือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการต้องถ่วงดุลกัน แต่พ.ร.บ.นี้ได้ตัดอำนาจตุลาการออกไป หากสนช.รับร่างพ.ร.บ.นี้ไว้พิจารณาจะไม่มีความชอบธรรม

พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นการสืบทอดอำนาจรูปแบบหนึ่ง แม้มีรัฐบาล มีรัฐธรรมนูญ แต่กองทัพก็ยังมีอำนาจมาก ซึ่งไม่ดี ไม่เหมาะสม ไม่ทำให้บรรยากาศประชาธิปไตยกลับมาได้ ประชาชนยิ่งอึดอัด ไม่ทราบครม.อนุมัติพ.ร.บ.นี้มาได้อย่างไร ไม่ต่างกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเช่นกัน

ห่วงการตรวจสอบจากตุลาการ เพราะผู้ใช้อำนาจต้องรับผิดชอบอำนาจที่ตัวเองใช้ เมื่อตัดตุลาการออกไปเท่ากับนิรโทษกรรมตัวเองล่วงหน้า ต่อให้ผบ.ทบ.ซื่อสัตย์จริงใจแก้ปัญหา แต่ท่านจะควบคุมเจ้าหน้าที่ทหารทุกคนได้หรือไม่ ไม่ให้ใช้อำนาจโดยละเมิด หากรู้อย่างนี้ว่าละเมิดแล้วไม่ต้องขึ้นศาลจะเกิดอะไรขึ้น
เรื่องนี้ต้องทักท้วงกันแรงๆ เพราะเข้าใจผิดหลงผิดไป เราขอท้วงดังๆว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ดี ไม่ใช่มาตรการที่สอดคล้องประชาธิปไตย เป็นอำนาจที่น่าห่วงเพราะไม่มีการตรวจสอบ
-สมชาย หอมลออ
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เท่ากับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เป็นการนำพ.ร.ก.ฉุกเฉินกับกฎอัยการศึกมารวมกัน ไม่แปลกใจที่พ.ร.บ.นี้ผ่านครม.ได้ จำเลยคดีนี้มีทั้งครม.และคมช. และสนช.จะเป็นจำเลยคนต่อไป ซึ่งคณะกรรมการกอ.รมน. 2 ใน 3 เป็นข้าราชการประจำ เสนาธิการทหารเป็นเลขาฯกอ.รมน. เป็นการเสริมสร้างอำนาจความเข้มแข็งให้ข้าราชการทหารมากขึ้น บังคับบัญชาสั่งการข้าราชการพลเรือน เป็นการสร้างกองทัพมาเป็นพรรคการเมืองหนึ่ง ในแง่ประชาธิปไตยถือเป็นพรรคนอกระบบ กลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ อำนาจซ้อนอำนาจ น่ากลัวมาก
คมช.และรัฐบาลกำลังใช้ผีระบอบทักษิณ เพื่อให้ประชาชนวางเฉยต่อการสืบทอดอำนาจคมช.ด้วยการออกกฎหมายนี้ อยากเรียกร้องประชาชนให้ช่วยกันจับตาดูอย่างใกล้ชิด เรากำลังจะเจอเผด็จการตัวใหม่ เหมือนหนีเสือปะจระเข้ อ้างว่าทำเพื่อไม่ให้เกิดการฟื้นฟูระบอบทักษิณ
ขณะนี้ข้าราชการก็ใช้อำนาจบาตรใหญ่กับประชาชนอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ไม่มีข้าราชการถูกดำเนินคดีเลยทั้งทางอาญา วินัย เกิดเป็นวัฒนธรรมข้าราชการชั่วลอยนวลอยู่มากมายเหนือประชาชน
-พิภพ ธงไชย
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

พ.ร.บ.นี้เป็นการสืบทอดอำนาจที่ชัดเจน หากกฎหมายผ่านจะมีรัฐ 2 รัฐปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญจะหมดความหมาย คงต้องให้คมช.ไปออกรัฐธรรมนูญของตัวเอง ทำให้สุดๆ เราจะได้ต่อสู้อย่างสุดๆ แต่ขณะนี้ยังอ้างความหวังดีอยู่ ยังดันทุรังให้อำนาจเผด็จการอยู่
ถือว่าสืบทอดอำนาจเนียนกว่าสมัยพล.อ.สุจินดา คราประยูร และยิ่งกว่ามาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คิดไม่ถึงว่าจะออกกฎหมายที่เลวร้ายมากๆ อาจจะกลัวพ.ต.ท.ทักษิณ ผมพูดด้วยความเคารพทหาร หากนายกฯและประธานคมช.ซึ่งคิดผิด ยังจะออกกฎหมายนี้อยู่จะถูกต่อต้านอย่างหนัก
อยากให้ตีความมั่นคงใหม่ให้เกิดความสมดุล ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และอำนาจประชาชน หากผ่านกฎหมายนี้ ครม. สนช. ส.ส.ร. องค์กรอิสระ โดยเฉพาะกรรมการสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ต้องรวมตัวกันประท้วงด้วยการประกาศลาออกให้หมด เราต้องร่วมกันทำเชิงสัญลักษณ์ หากยังไม่หยุดก็ต้องออกมาปฏิเสธรัฐธรรมนูญปี”50 ทั้งที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญปี”40 ส่วนประชาชนก็ต้องรวมตัวกันเผาบัตรประชาชน เป็นยุทธวิธีปฏิเสธอำนาจเผด็จการ
เห็นกฎหมายแล้วขนลุกเพราะเท่ากับรัฐประหารระยะยาว ต่ออำนาจไม่มีที่สิ้นสุดให้กับผบ.ทบ. โดยศาลไร้ความหมาย หากประธานคมช.ซึ่งบอกว่ารักประชาธิปไตยจริง ต้องถอนกฎหมายไปยื่นต่อสภาในสมัยหน้า
-เสน่ห์ จามริกประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
พ.ร.บ.นี้สวนทางกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ทำให้อนาคตประชาธิปไตยมืดมน รัฐบาลบอกว่าจำเป็นโดยอ้างสหรัฐก็มีกฎหมายนี้ ไม่ควรพูดเลี่ยงบาลี เป็นตัวอย่างที่เลวๆ สหรัฐซ้อมนักโทษจะไปเอาอย่างด้วยหรือ กฎหมายนี้กระทบสิทธิประชาชนแน่นอน ทำให้การแสดงความเห็นถูกลิดรอน ที่สำคัญคือการมีอำนาจทำลายเครดิตรัฐบาล น่าจะทำคะแนนมากกว่านี้
เตือนด้วยความหวังดี ท่านห้อมล้อมด้วยข้าราชการไม่ค่อยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพประชาชน รัฐบาลสะสมปัญหาหลายเรื่อง เช่น การทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่น และทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าใด ทำให้ความรู้สึกประชาชนไม่ค่อยดี ปัญหาตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่กำลัง แต่อยู่ที่ความนิยมของประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น